วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2558

การจัดการชั้นเรียนอนุบาล

การจัดการชั้นเรียน (Classroom management) หมายถึง การจัดระบบการใช้งานในชั้นเรียนทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับการกำ หนดกฎ กติกาของห้อง การปฐมนิเทศเพื่อทำความเข้าใจแก่เด็ก การกำหนดขนาดของครุภัณฑ์ สื่อเครื่องเล่น และสิ่งอำนวยความสะดวกตามขนาด ปริมาณและคุณลักษณะที่สอดคล้องกับการใช้งาน และที่สำคัญที่สุดคือ การบริหารพื้นที่ของครู เพื่อ ให้การใช้งานของเด็กกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มเล็กเป็นไปอย่างมีคุณภาพ
ครูปฐมวัยที่อ่อนหวาน กับบรรยากาศของชั้นเรียนปฐมวัยที่อบอุ่น ปลอดภัยเหมือนบ้าน ถือเป็นความประทับใจครั้งแรกที่มีต่อสถานศึกษาของเด็ก และจะช่วยให้เด็กเริ่มต้นชีวิตการศึกษาด้วยความมั่นใจ ผ่อนคลาย ลดความกังวล เกรงกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิตในวัยต้น จากบ้านสู่โรงเรียนอย่างราบรื่นและเป็นสุข ครูปฐมวัยจึงต้องเข้าใจในความสำ คัญของบุคลิกภาพที่อ่อนโยน คำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน และการจัดการสภาพแวดล้อมในชั้นเรียน เพื่อรองรับเด็กในฐานะโลกใบใหม่ที่พร้อมต้อนรับและเชื้อเชิญอยู่ทุกเวลา
ธรรมชาติของเด็ก อยู่ในวัยที่ไม่อยู่นิ่ง โดยเฉพาะเมื่อคุ้นชินกับคนและสภาพแวดล้อม เด็กอาจเล่นคลานและทำเสียงเห่าหอนไปรอบๆห้องเรียน หรือมุดลอดตามใต้โต๊ะอย่างสนุกสนาน อาจชักชวนกันออกไปนอกห้องทีละหลายๆคน โดยมีการขออนุญาต หรือไม่ขออนุญาตก็ได้ เพื่อวิ่งเล่น หรือไปห้องน้ำ อาจมีบางส่วนที่แสดงพฤติกรรมแปลกๆ ขณะมีคนแปลกหน้าหรือผู้บริหารสถานศึกษาเดินผ่านมาเจอ สภาพเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น หากมีการจัดการชั้นเรียนที่ดี ถูกหลักการ
ปัญหาการจัดการชั้นเรียนปฐมวัยมีลักษณะอย่างไร?
ชั้นเรียนที่ขาดการบริหารจัดการที่ดี มีลักษณะดังต่อไปนี้
  • ครูไม่อธิบายให้เด็กๆเข้าใจอย่างชัดเจน เกี่ยวกับระบบการใช้พื้นที่และอุปกรณ์ในชั้นเรียน
  • การสอนของครูมีความซับซ้อนเกินไป ทำให้เด็กเบื่อและหมดความสนใจ
  • การจัดการในชั้นเรียนไม่ได้อยู่ในระดับที่มีความเหมาะสมกับการใช้งานของเด็ก
  • ไม่มีการปฐมนิเทศก่อนการมอบหมายให้เด็กทำงาน ทำให้เด็กขาดการเตรียมตัวที่ดี
  • การจัดกิจกรรม หรือการมอบหมายงานให้เด็กไม่สอดคล้องเหมาะสมกับระดับความสามารถของเด็ก
  • มีการเรียนรู้ โดยเน้นการฟังน้อยเกินไป ทำให้เด็กไม่ได้ฝึกการจดจำ และการทำความเข้าใจ
การจัดการในชั้นเรียนปฐมวัยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่จะช่วยให้การดำเนินกิจกรรมในแต่ละวันเป็นไปได้อย่างราบรื่น ห้องเรียนของเด็กปฐมวัยควรเป็นห้องเรียนที่มีบรรยากาศเป็นมิตรกับเด็ก ปราศจากการจัดวางสิ่งกีดขวางการมองเห็นในระดับสายตาของเด็ก ห้องเรียนของเด็กชั้นปฐมวัยที่ดี ควรเป็นห้องที่สว่างและสดใส เป็นห้องที่พร้อมจะให้เด็กๆได้ใช้พื้นที่ในการเคลื่อนไหว หรือเล่นได้ตามมุมต่างๆ การจัดการในชั้นเรียนที่เหมาะสม จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ครุภัณฑ์จำเป็นพื้นฐานในการจัดการชั้นเรียนมีอะไร?
ครุภัณฑ์พื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดชั้นเรียน มีดังต่อไปนี้
  • ชั้นวางสื่อเครื่องเล่น (สูงไม่เกิน 36 นิ้ว) จำนวน 4-8 ตัว
  • พรมขนาดใหญ่ปูรองบริเวณที่ต้องการป้องกันการเกิดเสียงดัง เช่น ศูนย์บล็อก 1 ผืน
  • สื่อเครื่องเล่นที่เหมาะสมกับอายุของเด็ก เช่น ตัวต่อเลโก้ บล็อกไม้ เป็นต้น
  • ของเล่นตามศูนย์ เช่น ศูนย์บ้าน มุมห้องครัว มุมห้องนอน มุมห้องนั่งเล่น (ไม่รวมกับโต๊ะและเก้าอี้ในชั้นเรียน) รถยนต์ของเล่น และรถบรรทุกของเล่น ชุดสัตว์พลาสติก ตุ๊กตา และหุ่นมือ เป็นต้น
  • ตู้เก็บของที่ใช้ 1-2 ตัว
  • โต๊ะหน้าเรียบกว้าง 60 x 1.20 ม. สูง 60 – 65 ซม. อย่างน้อย 4 ตัว
  • เก้าอี้อนุบาลคละขนาด ตามขนาดตัวเด็ก เท่าจำนวนเด็ก
ครูจัดห้องศูนย์การเรียนอย่างไร?
ศูนย์การเรียนถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการจัดการในชั้นเรียน ศูนย์การเรียนเป็นเสมือนห้องเล็กๆ ภายในชั้นเรียนมีพื้นที่เฉพาะสำหรับจัดสื่อเครื่องเล่น แยกออกตามหมวดหมู่ เป็นแต่ละศูนย์ย่อย ในแต่ละศูนย์ย่อยยังแบ่งเป็นมุมต่างๆ ประกอบศูนย์อีกด้วย สำหรับให้เด็กได้ทำกิจกรรม ช่วยให้เด็กมีสมาธิกับการทำกิจกรรม และเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการจัดการ และการทำความสะอาด หรือจัดเก็บหลังเล่นเสร็จแล้ว เมื่อเด็กอยู่ในศูนย์การเรียนรู้ เด็กจะเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ สัมผัส ทดลอง สำรวจ จินตนาการ และได้มีส่วนร่วมในการเล่นกับกลุ่มเพื่อนศูนย์การเรียนในชั้นเรียนปฐมวัย และการจัดการชั้นเรียนเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการคู่กันไปดังนี้
·     ศูนย์บล็อก มีไม้บล็อกหลายๆขนาด มีรางรถไฟ และรถไฟ รถยนต์ และรถบรรทุกของเล่น เล่นประกอบกัน หากมีขนาดห้องกว้างเพียงพอ หากมีโต๊ะงานไม้ภายในศูนย์บล็อกด้วย ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก
·     ศูนย์วิทยาศาสตร์ สื่ออุปกรณ์ภายในศูนย์วิทยาศาสตร์ เน้นอุปกรณ์การสำรวจที่ควรมีการเปลี่ยนแปลงตามบท เรียนในแต่ละหน่วย เช่น หากเรียนเรื่องฤดูใบไม้ร่วง ก็ควรมีตะกร้าบรรจุใบไม้ต่างชนิด ผลของต้นสน และผลของต้นโอ๊ก ไว้ในตะกร้าตามหมวดหมู่ เป็นต้น ศูนย์วิทยาศาสตร์ต้องมีอุปกรณ์ทดลองถึงวัสดุของจริงเสมอ เด็กต้องได้ทดลองกับทรายและน้ำ ผลิตภัณฑ์จากพืช สังเกตสัตว์ เช่น ปลา ดักแด้ ทดลองเรื่องการไหลของน้ำ และแม่ เหล็ก เป็นต้น
·     ศูนย์ภาษา มีความหมายมากต่อการสอน ฟัง พูด อ่าน และขีดเขียน ภายในศูนย์นี้ควรจัดวางหนังสือในมุมอ่าน ประกอบด้วยหนังสือหลากหลายชนิด เพื่อให้เด็กๆได้สนุกเพลิดเพลินกับการอ่าน ควรซื้อหนังสือที่มีซีดีแถมมาด้วย และควรมีหูฟังให้เด็กได้ใช้ฟังด้วย ควรจัดอยู่ในบริเวณสงบเงียบ สร้างบรรยากาศสบายๆ ให้เด็กมีสมาธิในการอ่านหนังสือ ครูอาจจะวางหมอนใบโตๆ หรือตุ๊กตาสัตว์อ่อนนุ่ม ในมุมอ่านด้วยก็ได้
·     ศูนย์ศิลปะ ควรมีกระดาษไว้ให้เด็กได้วาดรูปเล่น นอกจากนั้นก็ควรมีสีเทียน ปากกามาร์คเกอร์ กระดาษสี และกาว ให้เด็กได้ตัดปะ ครูควรสอดแทรกกิจกรรมอื่นๆ นอกจากการวาดรูประบายสีให้เด็กด้วย
·     การจัดบริเวณรวมกลุ่มใหญ่ในห้องเรียน เป็นสถานที่ที่นักเรียนทั้งหมดมาทำกิจกรรมร่วมกัน ควรตกแต่งสถานที่ด้วยปฏิทิน แผ่นภาพวันทั้งเจ็ด บันไดเลข และภาพหน่วยการเรียน พื้นที่ควรเป็นที่แบบโล่งกว้าง ปราศจากสิ่งกีดขวาง ซึ่งสามารถให้เด็กนั่งบนพื้นหรือพรมได้อย่างเพียงพอ โดยที่ไม่แออัดเกินไป เพื่อเด็กจะได้นั่งฟังเรื่องที่ครูเล่า หรือได้ใช้พื้นที่ในการเคลื่อนไหวร่างกายประกอบเพลงได้อย่างสะดวก
·     การจัดการพื้นที่นั่ง เด็กปฐมวัยควรได้นั่งบนพื้นหรือเก้าอี้ ในบริเวณที่พวกเขาสามารถมองเห็นคุณครูหรือกระ ดานโดยสะดวก ชัดเจน เด็กควรได้นั่งทำงานกลุ่มบนโต๊ะ จะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมในกลุ่มย่อยได้สะดวกมากขึ้น
·     การตกแต่งชั้นเรียน ห้องเรียนของเด็กปฐมวัย ควรตกแต่งด้วยภาพโมบาย สื่อตามหน่วยการเรียน และภาพที่มีความหมายผลัดเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา ต้องตกแต่งด้วยสีสันสดใส ควรทำให้ห้องเรียนมีบรรยากาศสว่าง มีชีวิตชีวา และเป็นมิตร เด็กมักชอบที่จะเห็นชื่อตนเอง ดังนั้นจึงควรติดป้ายชื่อเด็กพร้อมสัญลักษณ์ ไว้ในระดับที่เด็กจะเห็นได้ถนัดด้วยเสมอ
  • เกร็ดความรู้เพื่อครู
การจัดชั้นเรียนปฐมวัยนั้น มีหลักที่ต้องคำนึงถึง ทั้งในเรื่องของสภาพการใช้งาน ครุภัณฑ์ประกอบการจัดห้อง และศูนย์การเรียนที่ต้องจัดมุมประกอบแต่ละศูนย์อย่างมีความหมายต่อเด็ก ในแต่ละศูนย์หรือมุมยังต้องจัดวางสื่ออุปกรณ์ ตามประเภทของการใช้งาน ตามจำนวนและขนาดที่เหมาะสมเพียงพอ รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับกิจกรรมกลุ่มใหญ่ ที่ต้องโล่งกว้าง และโต๊ะกิจกรรมกลุ่มย่อย ที่ต้องทำงานร่วมกันในกลุ่มเล็กๆ โดยสะดวกและเกิดประสิทธิภาพอีกด้วย
แหล่งที่มา
http://taamkru.com/th/
http://www.brighthubeducation.com/classroom-management/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น