วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2558

การจัดการชั้นเรียนอนุบาล

การจัดการชั้นเรียน (Classroom management) หมายถึง การจัดระบบการใช้งานในชั้นเรียนทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับการกำ หนดกฎ กติกาของห้อง การปฐมนิเทศเพื่อทำความเข้าใจแก่เด็ก การกำหนดขนาดของครุภัณฑ์ สื่อเครื่องเล่น และสิ่งอำนวยความสะดวกตามขนาด ปริมาณและคุณลักษณะที่สอดคล้องกับการใช้งาน และที่สำคัญที่สุดคือ การบริหารพื้นที่ของครู เพื่อ ให้การใช้งานของเด็กกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มเล็กเป็นไปอย่างมีคุณภาพ
ครูปฐมวัยที่อ่อนหวาน กับบรรยากาศของชั้นเรียนปฐมวัยที่อบอุ่น ปลอดภัยเหมือนบ้าน ถือเป็นความประทับใจครั้งแรกที่มีต่อสถานศึกษาของเด็ก และจะช่วยให้เด็กเริ่มต้นชีวิตการศึกษาด้วยความมั่นใจ ผ่อนคลาย ลดความกังวล เกรงกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิตในวัยต้น จากบ้านสู่โรงเรียนอย่างราบรื่นและเป็นสุข ครูปฐมวัยจึงต้องเข้าใจในความสำ คัญของบุคลิกภาพที่อ่อนโยน คำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน และการจัดการสภาพแวดล้อมในชั้นเรียน เพื่อรองรับเด็กในฐานะโลกใบใหม่ที่พร้อมต้อนรับและเชื้อเชิญอยู่ทุกเวลา
ธรรมชาติของเด็ก อยู่ในวัยที่ไม่อยู่นิ่ง โดยเฉพาะเมื่อคุ้นชินกับคนและสภาพแวดล้อม เด็กอาจเล่นคลานและทำเสียงเห่าหอนไปรอบๆห้องเรียน หรือมุดลอดตามใต้โต๊ะอย่างสนุกสนาน อาจชักชวนกันออกไปนอกห้องทีละหลายๆคน โดยมีการขออนุญาต หรือไม่ขออนุญาตก็ได้ เพื่อวิ่งเล่น หรือไปห้องน้ำ อาจมีบางส่วนที่แสดงพฤติกรรมแปลกๆ ขณะมีคนแปลกหน้าหรือผู้บริหารสถานศึกษาเดินผ่านมาเจอ สภาพเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น หากมีการจัดการชั้นเรียนที่ดี ถูกหลักการ
ปัญหาการจัดการชั้นเรียนปฐมวัยมีลักษณะอย่างไร?
ชั้นเรียนที่ขาดการบริหารจัดการที่ดี มีลักษณะดังต่อไปนี้
  • ครูไม่อธิบายให้เด็กๆเข้าใจอย่างชัดเจน เกี่ยวกับระบบการใช้พื้นที่และอุปกรณ์ในชั้นเรียน
  • การสอนของครูมีความซับซ้อนเกินไป ทำให้เด็กเบื่อและหมดความสนใจ
  • การจัดการในชั้นเรียนไม่ได้อยู่ในระดับที่มีความเหมาะสมกับการใช้งานของเด็ก
  • ไม่มีการปฐมนิเทศก่อนการมอบหมายให้เด็กทำงาน ทำให้เด็กขาดการเตรียมตัวที่ดี
  • การจัดกิจกรรม หรือการมอบหมายงานให้เด็กไม่สอดคล้องเหมาะสมกับระดับความสามารถของเด็ก
  • มีการเรียนรู้ โดยเน้นการฟังน้อยเกินไป ทำให้เด็กไม่ได้ฝึกการจดจำ และการทำความเข้าใจ
การจัดการในชั้นเรียนปฐมวัยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่จะช่วยให้การดำเนินกิจกรรมในแต่ละวันเป็นไปได้อย่างราบรื่น ห้องเรียนของเด็กปฐมวัยควรเป็นห้องเรียนที่มีบรรยากาศเป็นมิตรกับเด็ก ปราศจากการจัดวางสิ่งกีดขวางการมองเห็นในระดับสายตาของเด็ก ห้องเรียนของเด็กชั้นปฐมวัยที่ดี ควรเป็นห้องที่สว่างและสดใส เป็นห้องที่พร้อมจะให้เด็กๆได้ใช้พื้นที่ในการเคลื่อนไหว หรือเล่นได้ตามมุมต่างๆ การจัดการในชั้นเรียนที่เหมาะสม จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ครุภัณฑ์จำเป็นพื้นฐานในการจัดการชั้นเรียนมีอะไร?
ครุภัณฑ์พื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดชั้นเรียน มีดังต่อไปนี้
  • ชั้นวางสื่อเครื่องเล่น (สูงไม่เกิน 36 นิ้ว) จำนวน 4-8 ตัว
  • พรมขนาดใหญ่ปูรองบริเวณที่ต้องการป้องกันการเกิดเสียงดัง เช่น ศูนย์บล็อก 1 ผืน
  • สื่อเครื่องเล่นที่เหมาะสมกับอายุของเด็ก เช่น ตัวต่อเลโก้ บล็อกไม้ เป็นต้น
  • ของเล่นตามศูนย์ เช่น ศูนย์บ้าน มุมห้องครัว มุมห้องนอน มุมห้องนั่งเล่น (ไม่รวมกับโต๊ะและเก้าอี้ในชั้นเรียน) รถยนต์ของเล่น และรถบรรทุกของเล่น ชุดสัตว์พลาสติก ตุ๊กตา และหุ่นมือ เป็นต้น
  • ตู้เก็บของที่ใช้ 1-2 ตัว
  • โต๊ะหน้าเรียบกว้าง 60 x 1.20 ม. สูง 60 – 65 ซม. อย่างน้อย 4 ตัว
  • เก้าอี้อนุบาลคละขนาด ตามขนาดตัวเด็ก เท่าจำนวนเด็ก
ครูจัดห้องศูนย์การเรียนอย่างไร?
ศูนย์การเรียนถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการจัดการในชั้นเรียน ศูนย์การเรียนเป็นเสมือนห้องเล็กๆ ภายในชั้นเรียนมีพื้นที่เฉพาะสำหรับจัดสื่อเครื่องเล่น แยกออกตามหมวดหมู่ เป็นแต่ละศูนย์ย่อย ในแต่ละศูนย์ย่อยยังแบ่งเป็นมุมต่างๆ ประกอบศูนย์อีกด้วย สำหรับให้เด็กได้ทำกิจกรรม ช่วยให้เด็กมีสมาธิกับการทำกิจกรรม และเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการจัดการ และการทำความสะอาด หรือจัดเก็บหลังเล่นเสร็จแล้ว เมื่อเด็กอยู่ในศูนย์การเรียนรู้ เด็กจะเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ สัมผัส ทดลอง สำรวจ จินตนาการ และได้มีส่วนร่วมในการเล่นกับกลุ่มเพื่อนศูนย์การเรียนในชั้นเรียนปฐมวัย และการจัดการชั้นเรียนเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการคู่กันไปดังนี้
·     ศูนย์บล็อก มีไม้บล็อกหลายๆขนาด มีรางรถไฟ และรถไฟ รถยนต์ และรถบรรทุกของเล่น เล่นประกอบกัน หากมีขนาดห้องกว้างเพียงพอ หากมีโต๊ะงานไม้ภายในศูนย์บล็อกด้วย ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก
·     ศูนย์วิทยาศาสตร์ สื่ออุปกรณ์ภายในศูนย์วิทยาศาสตร์ เน้นอุปกรณ์การสำรวจที่ควรมีการเปลี่ยนแปลงตามบท เรียนในแต่ละหน่วย เช่น หากเรียนเรื่องฤดูใบไม้ร่วง ก็ควรมีตะกร้าบรรจุใบไม้ต่างชนิด ผลของต้นสน และผลของต้นโอ๊ก ไว้ในตะกร้าตามหมวดหมู่ เป็นต้น ศูนย์วิทยาศาสตร์ต้องมีอุปกรณ์ทดลองถึงวัสดุของจริงเสมอ เด็กต้องได้ทดลองกับทรายและน้ำ ผลิตภัณฑ์จากพืช สังเกตสัตว์ เช่น ปลา ดักแด้ ทดลองเรื่องการไหลของน้ำ และแม่ เหล็ก เป็นต้น
·     ศูนย์ภาษา มีความหมายมากต่อการสอน ฟัง พูด อ่าน และขีดเขียน ภายในศูนย์นี้ควรจัดวางหนังสือในมุมอ่าน ประกอบด้วยหนังสือหลากหลายชนิด เพื่อให้เด็กๆได้สนุกเพลิดเพลินกับการอ่าน ควรซื้อหนังสือที่มีซีดีแถมมาด้วย และควรมีหูฟังให้เด็กได้ใช้ฟังด้วย ควรจัดอยู่ในบริเวณสงบเงียบ สร้างบรรยากาศสบายๆ ให้เด็กมีสมาธิในการอ่านหนังสือ ครูอาจจะวางหมอนใบโตๆ หรือตุ๊กตาสัตว์อ่อนนุ่ม ในมุมอ่านด้วยก็ได้
·     ศูนย์ศิลปะ ควรมีกระดาษไว้ให้เด็กได้วาดรูปเล่น นอกจากนั้นก็ควรมีสีเทียน ปากกามาร์คเกอร์ กระดาษสี และกาว ให้เด็กได้ตัดปะ ครูควรสอดแทรกกิจกรรมอื่นๆ นอกจากการวาดรูประบายสีให้เด็กด้วย
·     การจัดบริเวณรวมกลุ่มใหญ่ในห้องเรียน เป็นสถานที่ที่นักเรียนทั้งหมดมาทำกิจกรรมร่วมกัน ควรตกแต่งสถานที่ด้วยปฏิทิน แผ่นภาพวันทั้งเจ็ด บันไดเลข และภาพหน่วยการเรียน พื้นที่ควรเป็นที่แบบโล่งกว้าง ปราศจากสิ่งกีดขวาง ซึ่งสามารถให้เด็กนั่งบนพื้นหรือพรมได้อย่างเพียงพอ โดยที่ไม่แออัดเกินไป เพื่อเด็กจะได้นั่งฟังเรื่องที่ครูเล่า หรือได้ใช้พื้นที่ในการเคลื่อนไหวร่างกายประกอบเพลงได้อย่างสะดวก
·     การจัดการพื้นที่นั่ง เด็กปฐมวัยควรได้นั่งบนพื้นหรือเก้าอี้ ในบริเวณที่พวกเขาสามารถมองเห็นคุณครูหรือกระ ดานโดยสะดวก ชัดเจน เด็กควรได้นั่งทำงานกลุ่มบนโต๊ะ จะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมในกลุ่มย่อยได้สะดวกมากขึ้น
·     การตกแต่งชั้นเรียน ห้องเรียนของเด็กปฐมวัย ควรตกแต่งด้วยภาพโมบาย สื่อตามหน่วยการเรียน และภาพที่มีความหมายผลัดเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา ต้องตกแต่งด้วยสีสันสดใส ควรทำให้ห้องเรียนมีบรรยากาศสว่าง มีชีวิตชีวา และเป็นมิตร เด็กมักชอบที่จะเห็นชื่อตนเอง ดังนั้นจึงควรติดป้ายชื่อเด็กพร้อมสัญลักษณ์ ไว้ในระดับที่เด็กจะเห็นได้ถนัดด้วยเสมอ
  • เกร็ดความรู้เพื่อครู
การจัดชั้นเรียนปฐมวัยนั้น มีหลักที่ต้องคำนึงถึง ทั้งในเรื่องของสภาพการใช้งาน ครุภัณฑ์ประกอบการจัดห้อง และศูนย์การเรียนที่ต้องจัดมุมประกอบแต่ละศูนย์อย่างมีความหมายต่อเด็ก ในแต่ละศูนย์หรือมุมยังต้องจัดวางสื่ออุปกรณ์ ตามประเภทของการใช้งาน ตามจำนวนและขนาดที่เหมาะสมเพียงพอ รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับกิจกรรมกลุ่มใหญ่ ที่ต้องโล่งกว้าง และโต๊ะกิจกรรมกลุ่มย่อย ที่ต้องทำงานร่วมกันในกลุ่มเล็กๆ โดยสะดวกและเกิดประสิทธิภาพอีกด้วย
แหล่งที่มา
http://taamkru.com/th/
http://www.brighthubeducation.com/classroom-management/

การบริหารจัดการชั้นเรียน (Classroom Management)

การบริหารจัดการชั้นเรียน (Classroom Management)  
ความหมายของการบริหารจัดการชั้นเรียน การจัดการชั้นเรียนในความหมายโดยทั่วไป คือ การจัดสภาพของห้องเรียน ที่ส่วนใหญ่เข้าใจกันว่า เป็นการจัดตกแต่งห้องเรียนทางวัตถูหรือทางกายภาพให้มีบรรยากาศน่าเรียนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนเท่านั้น แต่ถ้าจะพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว การจัดดารชั้นเรียนนั้น ครูจะต้องมีภาระหน้าที่มากมายหลายด้าน โดย ฮอล (Susan Colville-Hall :2004) ได้ให้ความหมายของการจัดการชั้นเรียนไว้ว่า เป็นพฤติกรรมการสอนที่ครูสร้างและคงสภาพเงื่อนไขของการเรียนรู้เพื่อช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลขึ้นในชั้นเรียนซึ่งถือเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ การจัดการชั้นเรียนที่มีคุณภาพนั้นต้องเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและคงสภาพเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โดยสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ การให้ผลย้อนกลับและการจัดการเกี่ยวกับการทำงานของนักเรียน ความพยายามของครูที่มีประสิทธิภาพนั้นหมายรวมถึง การที่ครูเป็นผู้ดำเนินการเชิงรุก (proactive) มีความรับผิดชอบ (responsive) และเป็นผู้สนับสนุน (supportive)
นอกจากนี้ได้มีนักศึกษาหลายท่านได้กำหนดความหมายของการจัดการชั้นเรียนไปในแนวเดียวกันดังนี้
Moore (2001) ให้คำจำกัดความว่า การบริหารจัดการชั้นเรียนเป็นกระบวนการของการจัดระบบระเบียบ และนำกิจการของห้องเรียนให้เกิดการเรียนรู้ การบริหารจัดการชั้นเรียนมักจะถูกรับรู้ว่าเกี่ยวข้องกับการรักษาระเบียบวินัยและควบคุมชั้นอย่างไรก็ตาม การเข้าใจเช่นนี้ เป็นเรื่องง่ายเกินไป ทั้งนี้เพราะ การบริหารจัดการชั้นเรียนมีหลายสิ่ง ที่มากไปกว่านี้นั่นคือ การสร้างและดูแลเอาใจใส่บรรยากาศแวดล้อมของห้องเรียนเพื่อให้การจัดการเรียนรู้บรรลุตามเป้าหมายทางการศึกษา
KAUCHAK และ EGGEN (1998) ให้คำจำกัด ความว่า การบริหารการจัดชั้นเรียน ประกอบด้วย ความคิด การวางแผน และการปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวงของครูที่สร้างสรรค์ภาพแวดล้อมอย่างเป็นระบบระเบียบ และส่งเสริมการเรียนรู้ โดยเป้าหมายของการบริหารจัดการ (MANAGEMENT GOALS) มี 2 ประการสำคัญ คือ
1.1 รังสรรค์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมให้การเรียนรู้มีความเป็นไปได้ มากที่สุด และครูจะสามารถสะท้อนการปฏิบัติงานของตนเองด้วยการถามตนเองสม่ำเสมอว่าระบบการบริหารจัดการเอื้ออำนวยให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างไรเพียงใด
1.2 พัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพในการจัดการและนำตนเองให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ดังนั้น การบริหารจัดการชั้นเรียนจึงเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความเข้าใจด้วยตนเอง ประเมินตนเอง และควบคุมดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสมตามวัย
โบรฟี (Jere Brophy, 1996:5) กล่าวถึงการจัดการชั้นเรียนไว้ว่า หมายถึง การที่ครูสร้างและคงสภาพสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ที่นำไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างกฎระเบียบและการดำเนินการที่ทำให้บทเรียนมีความน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวิชาการในชั้นเรียน
เบอร์เดน (Paul Burden, 1993:3) ให้คำจำกัดความของการจัดการชั้นเรียนไว้ว่า เป็นยุทธศาสตร์และการปฏิบัติที่ครูใช้เพื่อคงสภาพความเป็นระเบียบเรียบร้อย สุรางค์ โค้วตระกูล (2548 : 436) ได้อธิบายความหมายของการจัดการห้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพว่า หมายถึงการสร้างและการรักษาสิ่งแวดล้อมของห้องเรียนเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน หรือหมายถึงกิจกรรมทุกอย่างที่ครูทำเพื่อจะช่วยให้การสอนมีประสิทธิภาพและนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
การบริหารจัดการชั้นเรียน หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก ห้องเรียน เพื่อสนับสนุนให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข การจัดสภาพแวดล้อมจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. ความสะอาด ความปลอดภัย
2. ความมีอิสระอย่างมีขอบเขตในการเล่น
3. ความสะดวกในการทำกิจกรรม
4. ความพร้อมของอาคารสถานที่ เช่น ห้องเรียน ห้องน้ำห้องส้วม สนามเด็กเล่น ฯลฯ
5. ความเพียงพอเหมาะสมในเรื่องขนาด น้ำหนัก จำนวน สีของสื่อและเครื่องเล่น
6. บรรยากาศในการเรียนรู้ การจัดที่เล่นและมุมประสบการณ์ต่างๆ
การจัดการชั้นเรียนจึงมีความหมายกว้าง นับตั้งแต่การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพในห้องเรียน การจัดการกับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของนักเรียน การสร้างวินัยในชั้นเรียนตลอดจนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู และการพัฒนาทักษะการสอนของครูให้สามารถกระตุ้นพร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจในการเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความสำคัญของการบริหารจัดการชั้นเรียน  จากการสำรวจเอกสารงานวิจัย (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน. 2531: ค) ได้ค้นพบว่าบรรยากาศในชั้นเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้นักเรียนเกิด ความสนใจในบทเรียนและเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น การสร้าง บรรยากาศที่อบอุ่น ที่ครูให้ความเอื้ออาทรต่อนักเรียน ที่นักเรียนกับนัก เรียนมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรต่อกันที่มีระเบียบ มีความสะอาด เหล่านี้เป็นบรรยากาศที่นักเรียนต้องการ ทำให้นักเรียนมีความสุขที่ได้มา โรงเรียนและในการเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ถ้าครูผู้สอนสามารถสร้างความรู้สึกนี้ให้เกิดขึ้นต่อนักเรียนได้ ก็นับว่า ครูได้ทำหน้าที่ในการพัฒนาเยาวชนของประเทศชาติให้เติบโตขึ้นอย่างสมบรูณ์ ทั้งทางด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคม โดยแท้จริง ดังนั้น การสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งประมวลได้ดังนี้
1. ช่วยส่งเสริมให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น เช่น ห้องเรียนที่ไม่คับแคบจร เกินไป ทำให้นักเรียนเกิดความคล่องตัวในการทำกิจกรรม
2. ช่วย สร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีงามและความมีระเบียบวินัยให้แก่ผู้เรียน เช่น ห้องเรียนที่สะอาด ที่จัดโต๊ะเก้าอี้ไว้อย่างเป็นระเบียบ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน นัก เรียนจะซึมซับสิ่ง เหล่านี้ไว้โดยไม่รู้ตัว
3. ช่วย ส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้เรียน เช่น มีแสงสว่างที่เหมาะสม มีที่นั่งไม่ ใกล้กระดานดำมากเกินไป มีขนาดโต๊ะและเก้าอี้ที่เหมาะสมกับวัย รูปร่างของนักเรียนนักศึกษา ฯลฯ
4. ช่วย ส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างความสนใจในบทเรียนมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดมุมวิชาการการจัดป้ายนิเทศ การตกแต่งห้องเรียนด้วยผลงานของนักเรียน
5. ช่วยส่งเสริมการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เช่น การฝึกให้มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การฝึกให้มีอัธยาศัยไมตรีในการอยู่ร่วมกัน ฯลฯ6. ช่วย สร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนและการมาโรงเรียน เพราะในชั้นเรียนมีครูที่เข้า ใจนักเรียน ให้ความเมตตาเอื้ออารีต่อนักเรียน และนักเรียนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
กล่าวโดยสรุปได้ว่า การจัดบรรยากาศในชั้นเรียนจะช่วยส่งเสริมและสร้างเสริมผู้เรียนใน ด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคมได้เป็นอย่างดี ทำให้นักเรียนเรียนด้วยความสุข รักการเรียน และเป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ในที่สุด
เป้าหมายของการบริหารจัดการชั้นเรียน  
เป็นช่วยให้นักเรียนพัฒนาในการควบคุมตนเองเพื่อให้มีชีวิตและทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข
แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการชั้นเรียน
ครู ซึ่งเป็นผู้นำในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนนั้น จำเป็นต้องมีเป้าหมายของการบริหารจัดการการชั้นเรียนที่ถูกต้อง กล่าวคือ เพื่อมุ่งสร้างนิสัยของการใฝ่รู้ มิใช่เพื่อมุ่งให้นักเรียนเกิดความสุขสนุกในการเรียนเพียงอย่างเดียว ควรมุ่งสร้างคุณลักษณะ ของการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น การพึ่งตนเองให้มากกว่าพึ่งผู้อื่น และการเป็นคนมีความคิดใฝ่สร้างสรรค์ เพื่อดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไปในอนาคต ซึ่งมีแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการชั้นเรียน ดังนี้
1. การบริหารจัดการชั้นเรียน และการเรียนการสอนเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์ ซึ่งกันและกัน การบริหารจัดการชั้นเรียนไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของบทบาทความเป็นผู้นำของครู การบริหารจัดการชั้นเรียนไม่สามารถแยกจากหน้าที่การสอน เมื่อการวางแผนการสอน ก็คือ การที่ครูกำลังวางแผนการบริหารจัดการชั้นเรียนให้เกิดเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้
2. เป็นไปไม่ได้ที่จะแยกการบริหารจัดการชั้นเรียนกับการทำหน้าที่การจัดการเรียนการสอน รูปแบบการสอนหรือกลยุทธ์ที่ครูเลือกใช้แต่ละรูปแบบก็มีระบบการบริหารจัดการของมันเองและมีภารกิจเฉพาะของรูปแบบหรือกลยุทธ์นั้น ๆ ที่จะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมทั้งของครูและนักเรียน เช่น ถ้าครูจะบรรยายก็จำเป็นที่บทเรียนจะต้องมีความตั้งใจฟัง ถ้าจะให้นักเรียนทำงานกลุ่มวิธีการก็จะแตกต่างจากการทำงานโดยลำพังของแต่ละคนอย่างน้อยที่สุดก็คือการนั่ง ดังนั้นภารกิจการสอนจึงเกี่ยวข้องทั้งปัญหาการจัดลำดับวิธีการสอน ปัญหาของการจัดการในชั้นเรียนปัญหาการจัดนักเรียนให้ปฏิบัติตามกิจกรรม ครูที่วางแผนการบริหารจัดการชั้นเรียนได้อย่างเหมาะสม ทั้งกิจกรรมการเรียนการสอนและภารกิจ ก็คือ การที่ครูใช้การตัดสินใจอย่างฉลาดทั้งเวลา บรรยากาศทางกายภาพ และจิตวิทยา ซึ่งจะทำให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้และลดปัญหาด้านวินัยของนักเรียน
3. การบริหารชั้นเรียนเป็นความท้าทายของการเป็นครูมืออาชีพ ความสามารถของครูในการแสดงภาวะผู้นำ ด้วยการที่สามารถจะบริหารการจัดชั้นเรียนทั้งด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การบริหารจัดการบรรยากาศในห้องเรียน การดูแลพฤติกรรมด้านวินัยให้เกิดการร่วมมือในการเรียนจนเกิดการเรียนรู้ และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตร (วีณา นนทพันธาวาทย์) 
ความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารจัดการชั้นเรียนและการเรียนการสอน
การบริหารจัดการชั้นเรียน หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน เพื่อสนับสนุนให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุขการจัดสภาพแวดล้อมจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. ความสะอาด ความปลอดภัย
2. ความมีอิสระอย่างมีขอบเขตในการเล่น
3. ความสะดวกในการทำกิจกรรม
4. ความพร้อมของอาคารสถานที่ เช่น ห้องเรียน ห้องน้ำห้องส้วม สนามเด็กเล่น ฯลฯ
5. ความเพียงพอเหมาะสมในเรื่องขนาด น้ำหนัก จำนวน สีของสื่อและเครื่องเล่น
6. บรรยากาศในการเรียนรู้ การจัดที่เล่นและมุมประสบการณ์ต่างๆ
การจัดการชั้นเรียนเพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้
ในการจัดการเรียนการสอน ผู้สอนต่างปรารถนาให้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น และผู้เรียนเกิดพฤติกรรมตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร บรรยากาศในชั้นเรียนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ความปรารถนานี้เป็นจริง พรรณี ชูทัย (2522 : 261 – 263)กล่าวถึงบรรยากาศในชั้นเรียนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการสอนจัดแบ่งได้ 6 ลักษณะ สรุปได้ดังนี้
1. บรรยากาศที่ท้าทาย (Challenge) เป็นบรรยากาศที่ครูกระตุ้นให้กำลังใจนักเรียนเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการทำงาน นักเรียนจะเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและพยายามทำงานให้สำเร็จ
2. บรรยากาศที่มีอิสระ (Freedom) เป็นบรรยากาศที่นักเรียนมีโอกาสได้คิด ได้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่า รวมถึงโอกาสที่จะทำผิดด้วย โดยปราศจากความกลัวและวิตกกังวล บรรยากาศเช่นนี้จะส่งเสริมการเรียนรู้ ผู้เรียนจะปฏิบัติกิจกรรมด้วยความตั้งใจโดยไม่รู้สึกตึงเครียด
3. บรรยากาศที่มีการยอมรับนับถือ (Respect) เป็นบรรยากาศที่ครูรู้สึกว่านักเรียนเป็นบุคคลสำคัญ มีคุณค่า และสามารถเรียนได้ อันส่งผลให้นักเรียนเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและเกิดความยอมรับนับถือตนเอง
4. บรรยากาศที่มีความอบอุ่น (Warmth) เป็นบรรยากาศทางด้านจิตใจ ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จในการเรียน การที่ครูมีความเข้าใจนักเรียน เป็นมิตร ยอมรับให้ความช่วยเหลือ จะทำให้นักเรียนเกิดความอบอุ่น สบายใจ รักครู รักโรงเรียน และรักการมาเรียน
5. บรรยากาศแห่งการควบคุม (Control) การควบคุมในที่นี้ หมายถึง การฝึกให้นักเรียนมีระเบียบวินัย มิใช่การควบคุม ไม่ให้มีอิสระ ครูต้องมีเทคนิคในการปกครองชั้นเรียนและฝึกให้นักเรียนรู้จักใช้สิทธิหน้าที่ของตนเองอย่างมีขอบเขต
6. บรรยากาศแห่งความสำเร็จ (Success) เป็นบรรยากาศที่ผู้เรียนเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จในงานที่ทำ ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น ผู้สอนจึงควรพูดถึงสิ่งที่ผู้เรียนประสบความสำเร็จให้มากกว่าการพูดถึงความล้มเหลว เพราะการที่คนเราคำนึงถึงแต่สิ่งที่ล้มเหลว เพราะการที่คนเราคำนึงถึงแต่ความล้มเหลวจะมีผลทำให้ความคาดหวังต่ำ ซึ่งไม่ส่งเสริมให้การเรียนรู้ดีขึ้น
บรรยากาศทั้ง 6 ลักษณะนี้ มีผลต่อความสำเร็จของผู้สอนและความสำเร็จของผู้เรียนผู้สอนควรสร้างให้เกิดในชั้นเรียน 
ประเภทของบรรยากาศในชั้นเรียน
สามารถแบ่งประเภทของบรรยากาศในชั้นเรียนได้ 2 ประเภทคือ
1. บรรยากาศทางกายภาพ
2. บรรยากาศทางจิตวิทยา
1.บรรยากาศทางกายภาพ (Physical Atmosphere)
บรรยากาศทางกายภาพหรือบรรยากาศทางด้านวัตถุ หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ภายในห้องเรียนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย น่าดู มีความสะอาด มีเครื่องใช้ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมให้การเรียนของนักเรียนสะดวกขึ้น เช่น ห้องเรียนมีขนาดเหมาะสม แสงเข้าถูกทาง และมีแสงสว่างเพียงพอ กระดานดำมีขนาดเหมาะสม โต๊ะเก้าอี้มีขนาดเหมาะสมกับวัยนักเรียน เป็นต้น
1. การจัดโต๊ะเรียนและเก้าอี้ของนักเรียน
1.1 ให้มีขนาดเหมาะสมกับรูปร่างและวัยของนักเรียน
1.2 ให้มีช่องว่างระหว่างแถวที่นักเรียนจะลุกนั่งได้สะดวก และทำกิจกรรมได้คล่องตัว
1.3 ให้มีความสะดวกต่อการทำความสะอาดและเคลื่อนย้ายเปลี่ยนรูปแบบที่นั่งเรียน
1.4 ให้มีรูปแบบที่ไม่จำเจ เช่น อาจเปลี่ยนเป็นรูปตัวที ตัวยู รูปครึ่งวงกลม หรือ เข้ากลุ่มเป็นวงกลม ได้อย่างเหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนการสอน
1.5 ให้นักเรียนที่นั่งทุกจุดอ่านกระดานดำได้ชัดเจน
1.6 แถวหน้าของโต๊ะเรียนควรอยู่ห่างจากกระดานดำพอสมควร ไม่น้อยกว่า 3 เมตร ไม่ควรจัดโต๊ะติดกระดานมากเกินไป ทำให้นักเรียนต้องแหงนมองกระดานดำ และหายใจเอาฝุ่นชอล์กเข้าไปมาก ทำให้เสียสุขภาพ
2. การจัดโต๊ะครู
2.1 ให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม อาจจัดไว้หน้าห้อง ข้างห้อง หรือหลังห้องก็ได้ งานวิจัยบางเรื่องเสนอแนะให้จัดโต๊ะครูไว้ด้านหลังห้องเพื่อให้มองเห็นนักเรียนได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม การจัดโต๊ะครูนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดที่นั่งของนักเรียนด้วย
2.2 ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งบนโต๊ะและในลิ้นชักโต๊ะ เพื่อสะดวกต่อการทำงานของครู และการวางสมุดงานของนักเรียน ตลอดจนเพื่อปลูกฝังลักษณะนิสัยความเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่นักเรียน
3. การจัดป้ายนิเทศ ป้ายนิเทศไว้ที่ฝาผนังของห้องเรียน ส่วนใหญ่จะติดไว้ที่ข้างกระดานดำทั้ง 2 ข้าง ครูควรใช้ป้ายนิเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน โดย
3.1 จัดตกแต่งออกแบบให้สวยงาม น่าดู สร้างความสนใจให้แก่นักเรียน
3.2 จัดเนื้อหาสาระให้สอดคล้องกับบทเรียน อาจใช้ติดสรุปบทเรียน ทบทวนบทเรียน หรือเสริมความรู้ให้แก่นักเรียน
3.3 จัดให้ใหม่อยู่เสมอ สอดคล้องกับเหตุการณ์สำคัญ หรือวันสำคัญต่าง ๆ ที่นักเรียนเรียนและควรรู้
3.4 จัดติดผลงานของนักเรียนและแผนภูมิแสดงความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียนจะเป็นการให้แรงจูงใจที่น่าสนใจวิธีหนึ่ง
แนวการจัดป้ายนิเทศ เพื่อให้การจัดป้ายนิเทศได้ประโยชน์คุ้มค่า ครูควรคำนึงถึงแนวการจัดป้ายนิเทศในข้อต่อไปนี้
1. กำหนดเนื้อหาที่จะจัด ศึกษาเนื้อหาที่จะจัดโดยละเอียด เพื่อให้ได้แนวความคิดหลัก หรือสาระสำคัญ เขียนสรุป หรือจำแนกไว้เป็นข้อ ๆ
2. กำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดโดยคำนึงถึงแนวความคิดหลักสาระสำคัญของเรื่องและคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายว่าต้องการเขารู้อะไร แค่ไหน อย่างไร
3. กำหนดชื่อเรื่อง นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ดู ชื่อเรื่องที่ดีต้องเป็นใจความสั้น ๆ กินใจความให้ความหมายชัดเจน ท้าทาย อาจมีลักษณะเป็นคำถามและชี้ให้เห็นวัตถุประสงค์ในการจัดแผ่นป้าย
4. วางแผนการจัดคล่าว ๆ ไว้ในใจ ว่าจะใช้วัสดุอะไรบ้าง แล้วจึงช่วยกันจัดหาสิ่งเหล่านั้น อาจเป็นรูปภาพ แผนภาพ ภาพสเก็ตซ์ ของจริง หรือจำลอง การ์ตูน เท่าที่พอจะหาได้
5. ออกแบบการจัดที่แน่นอน โดยคำนึงถึงสิ่งที่มีอยู่ โดยสเก็ตซ์รูปแบบการจัดลงบนกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายแผ่นป้าย ว่าจะวางหัวเรื่อง รูปภาพ และสิ่งต่าง ๆ ในตำแหน่งใด คำบรรยายอยู่ตรงไหน ใช้เส้นโยงอย่างไรจึงจะน่าสนใจ ควรออกแบบสัก 2 – 3 รูแบบ แล้วเลือกเอารูปแบบที่ดีที่สุด
6. ลงมือจัดเตรียมชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้มีขนาดและอยู่ในสภาพพร้อมที่จะขึ้นแสดงบนแผ่นป้ายได้อย่างเหมาะสม หัวเรื่องจะใช้วิธีใด ภาพต้องผนึกไหม คำบรรยายจะทำอย่างไร เตรียมให้พร้อม
7. ลงมือจัดจริงบนแผ่นป้ายตามรูปแบบที่วางไว้ อาจทดลองวางบนพื้นราบในพื้นที่เท่าแผ่นป้ายก่อน เพื่อกะระยะที่เหมาะสมก่อนนำไปใช้จริง
4. การจัดสภาพห้องเรียน ต้องให้ถูกสุขลักษณะ กล่าวคือ
4.1 มีอากาศถ่ายเทได้ดี มีหน้าต่างพอเพียง และมีประตูเข้าออกได้สะดวก
4.2 มีแสงสว่างพอเหมาะ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนอ่านหนังสือได้ชัดเจน เพื่อเป็นการถนอมสายตา ควรใช้ไฟฟ้าช่วย ถ้ามีแสงสว่างน้อยเกินไป
4.3 ปราศจากสิ่งรบกวนต่าง ๆ เช่น เสียง กลิ่น ควัน ฝุ่น ฯลฯ
4.4 มีความสะอาด โดยฝึกให้นักเรียนรับผิดชอบช่วยกันเก็บกวาด เช็ดถู เป็นการปลูกฝังนิสัยรักความสะอาด และฝึกการทำงานร่วมกัน
5. การจัดมุมต่าง ๆ ในห้องเรียน ได้แก่
5.1 มุมหนังสือ ควรมีไว้เพื่อฝึกนิสัยรักการอ่าน ส่งเสริมให้นักเรียนอ่านคล่อง ส่งเสริมการค้นคว้าหาความรู้ และการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ครูควรหาหนังสือหลาย ๆ ประเภท ที่มีความยากง่าย เหมาะสมกับวัยของนักเรียนมาให้อ่าน และควรหาหนังสือชุดใหม่มาเปลี่ยนบ่อย ๆ การจัดมุมหนังสือควรจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อสะดวกต่อการหยิบอ่าน
5.2 มุมเสริมความรู้กลุ่มประสบการณ์ต่างๆ ควรจัดไว้ให้น่าสนใจช่วยเสริมความรู้ ทบทวนความรู้ เช่น มุมภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา มุมความรู้ข่าว เหตุการณ์ ฯลฯ
5.3 มุมแสดงผลงานของนักเรียน ครูควรติดบนป้ายนิเทศ แขวนหรือจัดวางไว้บนโต๊ะ เพื่อให้นักเรียนเกิดความภูมิใจในความสำเร็จ และมีกำลังใจในการเรียนต่อไป อีกทั้งยังสามารถแก้ไขพัฒนาผลงานของนักเรียนให้ดีขึ้นโดยลำดับได้อีกด้วย
5.4 ตู้เก็บสื่อการเรียนการสอน เช่น บัตรคำ แผนภูมิ ภาพพลิก กระดาษ สี กาว ฯลฯ ควรจัดไว้ให้เป็นระเบียบ เป็นสัดส่วน สะดวกต่อการหยิบใช้ อุปกรณ์ชิ้นใดที่เก่าเกินไปหรือไม่ใช้แล้วไม่ควรเก็บไว้ในตู้ให้ดูรกรุงรัง
5.5 การประดับตกแต่งห้องเรียน ครูส่วนใหญ่มักนิยมประดับตกแต่งห้องเรียนด้วยสิ่งต่าง ๆ เช่น ม่าน มู่ลี่ ภาพ ดอกไม้ คำขวัญ สุภาษิต ควรตกแต่งพอเหมาะไม่ให้ดูรกรุงรัง สีสันที่ใช้ไม่ควรฉูดฉาด หรือใช้สีสะท้นแสง อาจทำให้นักเรียนเสียสายตาได้ การประดับตกแต่งห้องเรียน ควรคำนึงถึงหลักความเรียบง่าย เป็นระเบียบ ประหยัด มุ่งประโยชน์ และสวยงาม
5.6 มุมเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาด ตลอดจนชั้นวางเครื่องมือเครื่องใช้ของนักเรียน เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แก้วน้ำ กล่องอาหาร ปิ่นโต ฯลฯ ควรจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ และหมั่นเช็ดถูให้สะอาดเสมอ
2. บรรยากาศทางจิตวิทยา (Psychological Atmosphere) บรรยากาศทางจิตวิทยา หมายถึง บรรยากาศทางด้านจิตใจที่นักเรียนรู้สึกสบายใจ มีความอบอุ่น มีความเป็นกันเอง มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และมีความรักความศรัทธาต่อผู้สอน ตลอดจนมีอิสระในความกล้าแสดงออกอย่างมีระเบียบวินัยในชั้นเรียน
การจัดบรรยากาศทางด้านจิตวิทยาหรือทางด้านจิตใจ จะช่วยสร้างความรู้สึกให้นักเรียนเกิดความสบายใจในการเรียน ปราศจากความกลัวและวิตกกังวล มีบรรยากาศของการสร้างสรรค์เร้าความสนใจ ให้นักเรียนร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยความสุข นักเรียนจะเกิดความรู้เช่นนี้ ขึ้นอยู่กับ ครูเป็นสำคัญ ในข้อเหล่านี้ดังนี้
1.บุคลิกภาพของครู สภาพบรรยากาศของห้องเรียนมีส่วนสัมพันธ์กับบุคลิกภาพของครู ครูที่มีบุคลิกภาพดี เช่น การแต่งกาย การยืน การเดน ท่าทาง น้ำเสียง การใช้คำพูด การแสดงออกทางสีหน้า แววตา ฯลณ เหมาะสมกับการเป็นครู จะช่วยส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ได้ดี บุคลิกภาพของครูมีผลต่อความรู้สึกของนักเรียน ดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน. 2531 : 8, 13)
ครูประเภทที่ 1ถ้าครูแสดงความเป็นมิตร นักเรียนจะอบอุ่นใจถ้าครูยิ้มแย้ม นักเรียนจะแจ่มใสถ้าครูมีอารมณ์ขัน นักเรียนจะเรียนสนุกถ้าครูกระตือรือร้น นักเรียนจะกระปรี้กระเปร่าถ้าครูมีนำเสียงนุ่มนวล นักเรียนจะสุภาพอ่อนน้อมถ้าครูแต่งตัวเรียบร้อย นักเรียนจะเคารพถ้าครูให้ความเมตตาปรานี นักเรียนจะมีจิตใจอ่อนโยนถ้าครูให้ความยุติธรรม นักเรียนจะศรัทธา
ครูประเภทที่ 2ถ้าครูเข้มงวด นักเรียนจะหงุดหงิดถ้าครูหน้านิ่วคิ้วขมวด นักเรียนจะรู้สึกเครียดถ้าครูฉุนเฉียว นักเรียนจะอึดอัดถ้าครูปั้นปึ่ง นักเรียนจะกลัวถ้าครูแต่งกายไม่เรียบร้อย นักเรียนจะขาดความเคารพถ้าครูใช้น้ำเสียงดุดัน นักเรียนจะหวาดกลัว
ครูประเภทที่ 3ถ้าครูท้อถอย นักเรียนจะท้อแท้ถ้าครูเฉยเมย นักเรียนจะเฉื่อยชาถ้าครูเชื่องช้า นักเรียนจะหงอยเหงาถ้าครูใช้น้ำเสียงราบเรียบ นักเรียนจะไม่สนใจฟังถ้าครูปล่อยปละละเลย นักเรียนจะขาดระเบียบวินัย ถ้าครูแต่งกายไม่เรียบร้อย นักเรียนจะขาดความเคารพ
จากบุคลิกของครูทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมา สรุปได้ว่า
ครูประเภทที่ 1 จะสร้างบรรยากาศแบบประชาธิปไตย นักเรียนและครูจะยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้รู้จักทำงานร่วมกัน รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง มีเหตุมีผล นักเรียนจะรู้สึกสบายใจในการเรียน เป็นบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี
ครูประเภทที่ 2 จะสร้างบรรยากาศแบบเผด็จการ นักเรียนไม่ได้แสดงความคิดเห็น ครูจะเข้มงวด ครูเป็นผู้บอกหรือทำกิจกรรมทุกอย่าง นักเรียนไม่มีโอกาสคิด หรือทำกิจกรรมที่ต้องการ นักเรียนจะรู้สึกเครียดอึดอัด นักเรียนจะขาดลักษณะการเป็นผู้นำ ขาดความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ เป็นบรรยากาศที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี
ครูประเภทที่ 3 จะสร้างบรรยากาศแบบตามสบาย เป็นบรรยากาศที่น่าเบื่อหน่าย นักเรียนย่อท้อ สับสนวุ่นวาย ขาดระเบียบวินัย ไม่มีความคงเส้นคงวา ครูไม่สามารถควบคุมชั้นเรียนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้ เป็นบรรยากาศที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีจากครูทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ครูประเภทที่ 1 มีลักษณะความเป็นผู้นำแบบประชาธิปไตย ก็จะสร้างบรรยากาศแบบประชาธิปไตย ทำให้นักเรียนรู้สึกสบายใจที่จะเรียน มีความกระตือรือร้นในการเรียนมากกว่าประเภทอื่น ๆ บุคลิกภาพของครูจึงมีส่วนสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ได้อย่างมาก
2.พฤติกรรมการสอนของครู
พฤติกรรมการสอนของครูมีบทบาทในการสร้างความรู้สึกที่ดีให้แก่นักเรียน เช่นเดียวกับ
บุคลิกภาพของครู ในการสอนครูต้องใช้เทคนิคและทักษะการสอนที่สอดคล้องเหมาะสมกับนักเรียนและบทเรียน เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ เจตคติ และทักษะตามที่หลักสูตรกำหนด พฤติกรรมของครูควรเป็นดังนี้
2.1 ตอบสนองพฤติกรรมของนักเรียนโดยใช้เทคนิคการเสริมแรงที่เหมาะสม เช่น ใช้วาจา ใช้ท่าทาง ให้รางวัล และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ตลอดจนให้ทำกิจกรรมที่นักเรียนชอบ ครูควรเริมแรงให้ทั่วถึงและเหมาะสม
2.2 เปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น และยอมรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน แสดงให้นักเรียนเห็นว่าความคิดของเขามีประโยชน์ พยายามนำความคิดเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้
2.3 ฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม การให้ทำงานเป็นกลุ่มจะช่วยให้นักเรียนรู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ใช้ความรู้ความคิดความสามารถที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ฝึกการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและได้ผลงานนำมาสู่ความภาคภูมิใจในกลุ่มและตนเอง ในการมอบหมายงานให้กลุ่มทำนั้น ครูควรคำนึงถึงความยากง่ายของงาน ความรู้และความสามารถของนักเรียนในกลุ่ม เพื่อให้งานกลุ่มประสบความสำเร็จ เป็นการสร้างความรู้สึกทางบวกให้แก่นักเรียน งานใดที่ครูเห็นว่ายาก ครูควรเข้าไปดูแลกระตุ้นให้นักเรียนช่วยกันคิดแก้ปัญหาในกลุ่มของตน ครูจะต้องมีความอดทนที่จะไม่รีบชี้แนะ หรือบอกวิธีการแก้ปัญหาตรง ๆ ต้องฝึกให้นักเรียนใช้วิธีการต่าง ๆ หลาย ๆ แบบจนสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จ
2.4 ใช้เทคนิคและวิธีสอนที่ไม่ทำให้นักเรียนเบื่อหน่ายในการเรียน ครูควรคิดค้นคว้าและแสวงหาแนวทางวิธีการใหม่ ๆ มาใช้จัดการเรียนการสอน วิธีการสอนควรเป็นวิธีที่ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง หรือนักเรียนเป็นผู้กระทำกิจกรรม เช่น วิธีการสอนแบบทดลอง แบบแก้ปัญหา แบบแสดงบทบาทสมมุติ แบบสืบสวนสอบสวน แบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม แบบอภิปราย แบบศูนย์การเรียน ตลอดจนนวัตกรรมการสอนที่น่าสนใจ การจะใช้วิธีสอนแบบใดนั้นครูต้องเลือกให้เหมาะสมกับบทเรียน ระยะเวลา สติปัญญา และวัยของนักเรียน
3.เทคนิคการปกครองชั้นเรียนของครู
เทคนิคหรือวิธีการที่ครูใช้ปกครองชั้นเรียนมีส่วนส่งเสริมในการสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยา กล่าวคือ ถ้าครูปกครองชั้นเรียนด้วยความยุติธรรม ยึดหลักประชาธิปไตย ใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่ทุกคนยอมรับ ยินดีปฏิบัติ นักเรียนก็จะอยู่ในห้องเรียนอย่างมีความสุข เกิดความรู้สึกอบอุ่นพอใจและสบายใจ ในทางตรงกันข้าม ถ้าครูโลเล ไม่ยุติธรรม เลือกที่รักมักที่ชัง ปกครองชั้นเรียนแบบเผด็จการ นักเรียนจะเกิดความรู้สึกไม่ศรัทธาครู ไม่เห็นคุณค่าของระเบียบกฎเกณฑ์ ส่งผลให้นักเรียนไม่สนใจเรียน ไม่อยากมาโรงเรียนในที่สุด ดังนั้นเทคนิควิธีการปกครองชั้นเรียนของครูจึงมีความสำคัญต่อการสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยาด้วย
ในการปกครองชั้นเรียน ครูควรยึดหลักต่อไปนี้
3.1 หลักประชาธิปไตย ครูควรให้ความสำคัญต่อนักเรียนเท่าเทียมกัน ให้ความเสมอภาค ให้อิสระ ให้โอกาสแก่ทุกคนในการแสดงความคิดเห็น ขณะเดียวกันครูต้องใจกว้าง ยินดีรับฟังความเห็นของทุกคน และควรฝึกให้นักเรียนปฏิบัติตนตามสิทธิหน้าที่ รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น ให้รู้จักการอยู่ร่วมกันอย่างประชาธิปไตย
3.2 หลักความยุติธรรม ครูควรปกครองโดยใช้หลักความยุติธรรมแก่นักเรียนทุกคนโดยทั่วถึง นักเรียนจะเคารพศรัทธาครู และยินดีปฏิบัติตามกฎระเบียบของครู ยินดีปฏิบัติตามคำอบรมสั่งสอนของครู ตลอดจนไม่สร้างปัญหาในชั้นเรียน
3.3 หลักพรหมวิหาร 4 อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาเมตตา หมายถึง ความรักและเอ็นดุ ความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุขกรุณา หมายถึง ความสงสาร คิดจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์มุทิตา หมายถึง ความยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ลาภยศ สุข สรรเสริญอุเบกขา หมายถึง ความเที่ยงธรรม การวางตัวเป็นกลาง การวางใจเฉยถ้าครูทุกคนยึดหลักพรหมวิหาร 4 ในการปกครองชั้นเรียน นอกจากจะทำให้นักเรียนมีความเคารพรักศรัทธาครู และมีความสุขในการเรียนแล้วยังเป็นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่นักเรียนด้วย
3.4 หลักความใกล้ชิด การที่ครูแสดงความเอาใจใส่ ความสนใจ ให้ความใกล้ชิดกับนักเรียน เป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างบรรยากาศทางด้านจิตวิทยา วิธีการแสดงความสนใจนักเรียนทำได้หลายวิธี จิตรา วสุวานิช (2531 : 135) ได้เสนอแนะไว้ดังนี้
1. ครูจะต้องรู้จักนักเรียนในชั้นทุกคน รู้จักชื่อจริง ชื่อเล่น ความสนใจของเด็กแต่ละคน เป็นต้นว่า งานอดิเรก มีพี่น้องกี่คน จุดเด่น จุดด้อย ของนักเรียนแต่ละคน
2. ครูจะต้องแสดงความสนใจในสารทุกข์สุขดิบของเด็กแต่ละคน เช่น หมั่นถามความเป็นไปของพี่น้อง ความคืบหน้าของการสะสมแสตมป์ คือ ไม่เพียงรู้แต่ว่าเด็กเป็นอะไรในข้อ 1 แต่รู้ข่าวคราวเคลื่อนไหวของสิ่งเหล่านั้นด้วย
3. ครูจะมอบเวลาของตนเพื่อเด็ก เวลาที่นอกเหนือจากงานสอน ได้แก่ เวลาเย็นหลังเลิกเรียน ช่วงพักระหว่างการเรียน เพื่อช่วยเด็กที่ต้องการการช่วยเหลือเป็นพิเศษ ว่าต้องการขอคำปรึกษา ต้องการขอคำแนะนำในการหารายได้พิเศษ ครูจะต้องพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเด็กได้ตลอดเวลา
4. ครูจะต้องใกล้ชิด สัมผัสทั้งร่างกายและจิตใจ คำสั่งสอนและการกระทำของครูจะต้องสอดคล้องกัน เป็นต้นว่า ถ้าครูจะอบรมสั่งสอนเด็กเรื่องความซื่อสัตย์ ครูจะต้องปฏิบัติตนเป็นคนซื่อสัตย์ด้วยเช่นกัน กายสัมผัสก็เป็นสิ่งจำเป็น การจับต้องตัวบ้าง จะเป็นสื่อนำให้เด็กรู้สึกถึงความใกล้ชิดสนิทสนม
4. ปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน
ปฏิสัมพันธ์ ( interaction) หมายถึง ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างบุคคล 2 คน หรือบุคคล 2 ฝ่าย โดยต่างฝ่ายต่างมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน (ประดินันท์ อุปรมัย. 2523 : 133) ปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนมี 3 ลักษณะ ได้แก่
4.1 ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ถ้าปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนเป็นไปด้วยดี หมายถึง ทั้งครูและนักเรียนต่างมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ซักถาม ครูให้ความเป็นกันเองแก่นักเรียน ให้นักเรียนมีอิสระ และมีความสบายใจในการทำกิจกรรม บรรยากาศภายในห้องเรียนก็จะไม่ตึงเครียด เป็นบรรยากาศที่รื่นรมย์ น่าเรียน น่าสอน ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี
4.2 ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน บรรยากาศในห้องเรียนจะเต็มไปด้วยความอบอุ่น สร้างความรู้สึกที่ดีให้แก่นักเรียนได้ถ้านักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน คือ มีความสมัครสมานสามัคคี รักใคร่กลมเกลียวกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ฯลฯ นักเรียนจะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้นั้น ขึ้นอยู่กับครูเป็นสำคัญ กล่าวคือ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน ปกครองดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง สั่งสอนอบรมบ่มนิสัย และแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียนได้ถูกต้อง นักเรียนก็จะค่อย ๆ ซึบซาบและซับเอาสิ่งที่ดีงามไว้ปฏิบัติจนเป็นคุณลักษณะเฉพาะตนที่พึงประสงค์ เมื่อนักเรียนทุกคนต่างเป็นคนดี เพราะมีครูดี ทุกคนก็จะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน อันเป็นส่วนสร้างเสริมให้เกิดบรรยากาศที่พึงปรารถนาขึ้นในห้องเรียน
4.3 ปฏิสัมพันธ์ทางวาจา หมายถึง การพูดจาร่วมกันในชั้นเรียนระหว่างครูกับนักเรียน อาจเป็นการบรรยาย การอภิปราย การถามคำถาม การมอบหมายงาน การพูดของนักเรียน เป็นต้น ทั้งหมดนี้มีอิทธิพลต่อการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนเช่นกัน
กล่าวโดยสรุป การจัดบรรยากาศทางด้านจิตวิทยา มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกที่ดีต่อการเรียนการสอนและเกิดความศรัทธาในครูผู้สอน ดังนั้น ครูผู้สอนจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยา โดยปรับบุคลิกภาพความเป็นครูให้เหมาะสมปรับพฤติกรรมการสอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี มีเทคนิคในการปกครองชั้นเรียน และสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน 
หลักการจัดชั้นเรียน
เนื่องจากชั้นเรียนมีความสำคัญ เปรียบเสมือนบ้านที่สองของนักเรียน นักเรียนจะใช้เวลาอยู่ในชั้นเรียนประมาณวันละ 5-6 ชั่วโมง อิทธิพลของชั้นเรียนจึงมีมากพอที่จะปลูกผังลักษณะของเด็กให้เป็นแบบที่ต้องการได้ เช่น ให้เป็นตัวของตัวเอง ให้สามารถทำงานเป็นหมู่คณะได้ดี ให้ชอบแสวงหาความรู้อยู่เสมอ ให้มีความรับผิดชอบ ให้รู้จักคิดวิเคราะห์ ดังนั้นเพื่อให้นักเรียนมีคุณลักษณะนิสัยดังประสงค์ และมีความรู้สึกอบอุ่นสบายใจในการอยู่ในชั้นเรียนครูจึงควรคำนึงถึงหลักการจัดชั้นเรียน ดังต่อไปนี้
1. การจัดชั้นเรียนควรให้ยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม ชั้นเรียนควรเป็นห้องใหญ่หรือกว้างเพื่อสะดวกในการโยกย้ายโต๊ะเก้าอี้ จัดเป็นรูปต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน ถ้าเป็นห้องเล็ก ๆ หลาย ๆ ห้องติดกัน ควรทำฝาเลื่อน เพื่อเหมาะแก่การทำให้ห้องกว้างขึ้น
2. ควรจัดชั้นเรียนเพื่อสร้างเสริมความรู้ทุกด้าน โดยจัดอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมหรือหนังสืออ่านประกอบที่หน้าสนใจไว้ตามมุมห้อง เพื่อนักเรียนจะได้ค้นคว้าทำกิจกรรมควรติดอุปกรณ์รูปภาพและผลงานไว้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้
3. ควรจัดชั้นเรียนให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ซึ่งมีอิทธิผลต่อความเป็นอยู่และการเรียนของนักเรียนเป็นอันมาก ครูมีส่วนช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมให้ดีได้ เช่น ให้นักเรียนจัดหรือติดอุปกรณ์ให้มีสีสวยงาม จัดกระถางต้นไม้ประดับชั้นเรียน จัดที่ว่างของชั้นเรียนให้นักเรียนทำกิจกรรม คอยให้คำแนะนำในการอ่านหนังสือ ค้นคว้าแก้ปัญหา และครูควรสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน ไม่ให้เครียด เป็นกันเองกับนักเรียน ให้นักเรียนรู้สึกมีความปลอดภัย สะดวกสบายเหมือนอยู่ที่บ้าน
4. ควรจัดชั้นเรียนเพื่อเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีงาม ชั้นเรียนจะน่าอยู่ก็ตรงที่นักเรียนรู้จักรักษาความสะอาด ตั้งแต่พื้นชั้นเรียน โต๊ะม้านั่ง ขอบประตูหน้าต่าง ขอบกระดานชอล์ก แปลงลบกระดาน ฝาผนังเพดาน ซอกมุมของห้อง ถังขยะต้องล้างทุกวัน เพื่อไม่ให้มีกลิ่นเหม็น และบริเวณที่ตั้งถังขยะจะต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเป็นแหล่งบ่อเกิดเชื้อโรค
5. ควรจัดชั้นเรียนเพื่อสร้างความเป็นระเบียบ ทุกอย่างจัดให้เป็นระเบียบทั่งอุปกรณ์ของใช้ต่างๆ เช่นการจัดโต๊ะ ชั้นวางของและหนังสือ แม้แต่การใช้สิ่งของก็ให้นักเรียนได้รู้จักหยิบใช้ เก็บในที่เดิม จะให้นักเรียนเคยชินกับความเป็นระเบียบ
6. ควรจัดชั้นเรียนเพื่อสร้างเสริมประชาธิปไตย โดยครูอาจจัดดังนี้
6.1 จัดให้นักเรียนเข้ากลุ่มทำงาน โดยให้มีการหมุนเวียนกลุ่มกันไป เพื่อให้ได้ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น
6.2 จัดที่นั่งของนักเรียนให้สลับที่กันเสมอ เพื่อให้ทุกคนได้มีสิทธิที่จะนั่งในจุดต่างๆ ของห้องเรียน
6.3 จัดโอกาสให้นักเรียนได้หมุนเวียนกันเป็นผู้นำกลุ่ม เพื่อฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
7. ควรจัดชั้นเรียนให้เอื้อต่อหลักสูตร หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับปัจจุบันเน้นการจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และให้ใช้กระบวนการสอนต่างๆ ดังนั้นครูจึงควรจัดสภาพห้องให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ เช่น การจัดที่นั่งในรูปแบบต่างๆ อาจเป็นรูปตัวยู ตัวที หรือครึ่งวงกลม หรือจัดเป็นแถวตอนลึกให้เหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนการสอนและการจัดบรรยากาศทางด้านจิตวิทยาให้ผู้เรียนรู้สึกกล้าถามกล้าตอบ กล้าแสดงความคิดเห็น เกิดความใคร่รู้ ใคร่เรียน ซึ่งจะเสริมให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาตน พัฒนาอาชีพ พัฒนาสังคม และเป็นคนเก่ง ดี มีความสุขได้ในที่สุด
จากที่กล่าวมาทั่งหมด สรุปได้ว่า หลักการจัดชั้นเรียน คือ การจัดบรรยากาศทางด้านกายภาพ และการจัดบรรยากาศทางด้านจิตวิทยาในชั้นเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ และเพื่อการพัฒนาผู้เรียนทั่งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป
ลักษณะของชั้นเรียนที่ดี
เพื่อให้การจัดชั้นเรียนที่ถูกต้องตามหลักการ ผู้สอนควรได้ทราบถึงลักษณะของชั้นเรียนที่ดี สรุปได้ดังนี้
1. ชั้นเรียนที่ดีควรมีสีสันที่น่าดู สบายตา อากาศถ่ายเทได้ดี ถูกสุขลักษณะ
2. จัดโต๊ะเก้าอี้และสิ่งที่ที่อยู่ในชั้นเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอน และกิจกรรมประเภทต่างๆ
3. ให้นักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุข มีอิสรเสรีภาพ และมีวินัยในการดูแลตนเอง
4. ใช้ประโยชน์ชั้นเรียนให้คุ้มค่า ครูอาจดัดแปลงให้เป็นห้องประชุม ห้องฉายภาพยนตร์และอื่น ๆ
5. จัดเตรียมชั้นเรียนให้มีความพร้อมต่อการสอนในแต่ละครั้ง เช่น การทำงานกลุ่ม การสาธิตการแสดงบทบาทสมมุติ
6. สร้างบรรยากาศให้อบอุ่น ให้ความเป็นกันเองกับผู้เรียน
สรุป  การจัดบรรยากาศในชั้นเรียน เป็นสิ่งสำคัญในการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนและส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถรับผิดชอบควบคุมดุแลตนเอง ได้ในอนาคต การจัดบรรยากาศมีทั้งด้านกายภาพ เป็นการจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนทั้งการจัดตกแต่งในห้องเรียน จัดที่นั่ง จัดมุมเสริมความรู้ต่างๆ ให้สะดวกต่อการเรียนการสอน ทางด้านจิตวิทยา เป็นการสร้างความอบอุ่น ความสุขสบายใจให้กับผู้เรียน ผู้สอนควรจัดบรรยากาศทั้ง 2 ด้านนี้ให้เหมาะสม นอกจากนี้การสร้างบรรยากาศการเรียนรุ้ให้เกิดความสุขแก่ผู้เรียนเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่จะสร้างคุณลักษณะนิสัยของการใฝ่เรียนรู้ การมีนิสัยรักการเรียนรู้ การเป็นคนดี และการมีสุขภาพจิตที่ดี สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขทั่งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป ซึ่งบุคคลสำคัญที่จะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุขให้เกิดขึ้นได้คือ ครูผู้นำทางแห่งการเรียนรู้นั่นเอง
แหล่งข้อมูล 
http://www.kruchiangrai.net/