วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2563

การวัดและการประเมินด้านคุณลักษณะ


การวัดและการประเมินด้านคุณลักษณะ
—————————————————
1.หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กำหนดให้ผู้เรียนเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระ โดยในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้สมบูรณ์พร้อมใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านพุทธิพิสัย (ความรู้ความคิด สติปัญญา) ด้านเจตพิสัย (คุณลักษณะ จิตใจ) และด้านทักษะพิสัย (ความสามารถในการปฏิบัติงาน) โดยมาตรฐานการเรียนรู้จะช่วยสะท้อนให้ทราบว่าต้องการจะบรรลุอะไร จะสอนอย่างไร และจะประเมินอย่างไร
2.การวัดและประเมินผู้เรียนด้านคุณลักษณะหรือเจตพิสัย เป็นการสะท้อนถึงคุณภาพผู้เรียนที่เกี่ยวกับคุณลักษณะและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นทางด้านจิตใจ เช่น ความสนใจ ความเชื่อ เจตคติ ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม คุณลักษณะที่พึงประสงค์ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของสังคม และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข
3. Bloom และคณะ (1964) แบ่งระดับพัฒนาการด้านคุณลักษณะหรือเจตพิสัยออกเป็น 5 ขั้น ได้แก่


 ขั้นที่ 1 การตั้งใจรับ (Receiving) เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อปรากฏการณ์หรือสิ่งเร้าในลักษณะการแปลความหมายของสิ่งเร้านั้นว่า คืออะไร การประเมินขั้นนี้เป็นการประเมินพฤติกรรมที่แสดงออกว่ารู้จัก สนใจ
ขั้นที่ 2 การตอบสนอง (Responding) เป็นการกระทำที่แสดงออกในรูปความเต็มใจและพอใจต่อสิ่งเร้านั้น เช่น แสดงความสนใจ การประเมินขั้นนี้เป็นการประเมินพฤติกรรมที่แสดงว่า เชื่อฟัง ทำตาม อาสาทำ พอใจที่จะทำ
ขั้นที่ 3 การเห็นคุณค่า (Valuing) เป็นการเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เป็นที่ยอมรับของสังคมโดยแสดงออกในรูปการปฏิบัติตามจนเกิดเจตคติที่ดีต่อสิ่งนั้น การประเมินในขั้นนี้เป็นการประเมินพฤติกรรมแสดงออกโดยปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ยกย่อง ชมเชย สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือทำกิจกรรมที่ตรงกับความเชื่อของตน ปฏิเสธที่จะทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับตน
ขั้นที่ 4 การสร้างคุณค่า (Organization) เป็นการสร้างแนวคิด จัดระบบของค่านิยมที่เกิดขึ้นโดยมีการเปรียบเทียบคุณค่า การหาความสัมพันธ์ของคุณค่าและการสังเคราะห์คุณค่าขึ้น การประเมินขั้นนี้เป็นการประเมินพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรม การอภิปรายเปรียบเทียบจนเกิดอุดมการณ์ในความคิดของตน
ขั้นที่ 5 การสร้างลักษณะนิสัย (Characterization by value) เป็นการนำค่านิยมที่ยึดถือ (ในขั้นที่ 4) มาปฏิบัติจนเป็นนิสัยประจำตัว การประเมินขั้นนี้เป็นการประเมินพฤติกรรมที่มีแนวโน้มจะปฏิบัติเช่นนั้นเสมอในสถานการณ์เดียวกัน
4.ขั้นตอนการสร้างเครื่องมือวัดและประเมินคุณลักษณะ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ ดังนี้
4.1 การวางแผนการสร้างเครื่องมือ ประกอบด้วยการวางแผนดำเนินงาน ดังนี้
- การกำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของการสร้างเครื่องมือวัด
-การกำหนดคุณลักษณะที่ต้องการวัดเป็นการกำหนดสิ่งที่ต้องการวัดและขอบเขตของการวัดคุณลักษณะดังกล่าวว่าวัดอะไร และวัดในขอบเขตแค่ไหน เช่น สิ่งที่ต้องการวัด คือ ลักษณะนิสัยในการทำงานของนักเรียน ลักษณะนิสัยในการทำงานประกอบด้วย ความสนใจ ความรับผิดชอบ ความประหยัด และความรอบคอบ เป็นต้น
- การกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการวัด เป็นการกำหนดว่าจะนำเครื่องมือไปวัดกับกลุ่มเป้าหมายใด และมีจำนวนเท่าใด การทราบว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใครและมีจำนวนเท่าใด จะเป็นประโยชน์ในการกำหนดประเภทของเครื่องมือวัด การศึกษาแนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับคุณลักษณะที่ต้องการวัด คุณลักษณะด้านเจตพิสัยเป็นคุณลักษณะด้านจิตวิทยา ในการสร้างเครื่องมือวัด จึงควรศึกษาแนวคิดทฤษฎีด้านจิตวิทยาที่เกี่ยวข้อง
- การกำหนดนิยามและพฤติกรรมชี้วัดคุณลักษณะที่ต้องการวัด จำเป็นต้องให้นิยามคุณลักษณะให้ชัดเจนเพื่อสามารถวัดได้ตรงและถูกต้อง รวมทั้งกำหนดพฤติกรรมชี้วัดคุณลักษณะในรูปนิยามเชิงปฏิบัติการ
- การกำหนดเครื่องมือวัดและรูปแบบการวัด การเลือกเครื่องมือวัดคุณลักษณะพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ได้แก่ คุณลักษณะที่ต้องการวัด ลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง จำนวนกลุ่มตัวอย่าง เมื่อกำหนดเครื่องมือวัดได้แล้ว ควรพิจารณารูปแบบของเครื่องมือวัดให้เหมาะสม เช่น การตอบจากคำตอบที่กำหนดให้จำนวนตัวเลือกในข้อคำถามแต่ละข้อ การให้ผู้ตอบเขียนคำตอบเอง หรือการใช้มาตรประมาณค่าควรใช้กี่ระดับ เป็นต้น
- การจัดทำแผนผังการสร้างเครื่องมือวัด ประกอบด้วยประเด็นสำคัญได้แก่ คุณลักษณะที่ต้องการวัด นิยามเชิงปฏิบัติการ ตัวชี้วัดหรือพฤติกรรมชี้วัด รูปแบบการวัด จำนวนข้อคำถาม และผู้ให้ข้อมูล
4.2 การดำเนินการสร้างเครื่องมือ ดำเนินการดังนี้ การเขียนข้อคำถามตามรูปแบบของเครื่องมือวัดที่กำหนดไว้ให้ครบถ้วนตามประเด็นและจำนวนข้อในแผนผังการสร้างเครื่องมือ รวมทั้งการจัดทำคำชี้แจงการตอบ การจัดเรียงข้อคำถาม การกำหนดวิธีการตรวจให้คะแนน รวมทั้งการแปลผลคะแนนน
4.3 การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ เป็นการตรวจสอบคุณภาพของข้อคำถามรายข้อและตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือในภาพรวม คุณภาพที่ตรวจสอบ ได้แก่ ความตรง ความเที่ยง และอำนาจจำแนก และเมื่อตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือและปรับแก้ไขจนเครื่องมือมีคุณภาพตามเกณฑ์แล้วจะจัดพิมพ์เครื่องมือวัดฉบับสมบูรณ์ พร้อมทั้งทำคู่มือการใช้เครื่องมือ ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือและการนำเครื่องมือไปใช้ ดังนี้ วัตถุประสงค์ของเครื่องมือ โครงสร้างของเครื่องมือ คุณภาพของเครื่องมือ วิธีการใช้เครื่องมือ วิธีการตรวจให้คะแนน และการแปลความหมายคะแนน
 แหล่งอ้างอิง
สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น