วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

การลาของข้าราชการครู

 การลาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 

                 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้แบ่งประเภทการลาไว้ ๑๑ ประเภท และ ก.ค.ศ. ได้กำหนดผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาต และอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตการลาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการลาประเภทต่าง ๆ ไว้ เรื่องของการลานั้นมีความเชื่อมโยงผูกพันในด้านการเงินหลายประเด็น ทั้งการได้รับเงินเดือนระหว่างลา การได้รับเงินวิทยฐานะ การเลื่อนขั้นเงินเดือน ซึ่งจะขอกล่าวไว้
ณ ที่นี้ ตามลำดับดังนี้
                 ๑. การลาป่วย ผู้อำนวยการสถานศึกษา อนุญาตได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน ๖๐ วัน ผอ.สพท. อนุญาตได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน ๑๒๐ วัน การลาป่วยที่รักษาตัวเป็นเวลานาน ปีหนึ่งลาโดยได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ไม่เกิน ๖๐ วันทำการ แต่หากหัวหน้าส่วนราชการเห็นสมควร ให้จ่ายเงินเดือนต่อไปอีกก็ได้ แต่ไม่เกิน ๖๐ วันทำการ (รวม ๒ ขั้นตอน ไม่เกิน ๑๒๐ วันทำการ เลขาธิการ กพฐ. มอบอำนาจให้ ผอ.สพท. มีอำนาจพิจารณาอนุญาตแล้ว) ถ้าเกินไม่ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลา ในส่วนของเงินวิทยฐานะให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลาได้ปีหนึ่งไม่เกิน ๖๐ วันทำการ  
                 ๒. การลาคลอดบุตร ผู้อำนวยการสถานศึกษา และ ผอ.สพท. อนุญาตได้ ลาได้ไม่เกิน ๙๐ วัน โดยได้รับเงินเดือนระหว่างลา ในส่วนของเงินวิทยฐานะให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลาได้ไม่เกิน ๙๐ วัน
                 ๓. การลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร ผู้อำนวยการสถานศึกษา และ ผอ.สพท. อนุญาตได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน ๑๕ วันทำการ และหากลาภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ภริยาคลอดบุตร ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ไม่เกิน ๑๕ วันทำการ หากลาเมื่อพ้น ๓๐ วันนับแต่วันที่ภริยาคลอดบุตร ไม่ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลา ในส่วนของเงินวิทยฐานะอยู่ระหว่างพิจารณากำหนดรายละเอียด เนื่องจากเป็นประเภทการลาที่กำหนดขึ้นใหม่
                 ๔. การลากิจส่วนตัว ผู้อำนวยการสถานศึกษา อนุญาตได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน ๓๐ วัน ผอ.สพท. อนุญาตได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน ๔๕ วัน  ปีหนึ่งลาโดยได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ไม่เกิน ๔๕ วันทำการ แต่ในปีที่เริ่มรับราชการ ลาโดยได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ไม่เกิน ๑๕ วันทำการ การลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตร ลาได้ไม่เกิน ๑๕๐ วันทำการ โดยไม่ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลา ในส่วนของเงินวิทยฐานะให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลาได้ปีหนึ่งไม่เกิน ๔๕ วันทำการ แต่ในปีที่เริ่มรับราชการให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลาได้ไม่เกิน ๑๕ วันทำการ 
                 ๕. การลาพักผ่อน ผู้อำนวยการสถานศึกษา และ ผอ.สพท. อนุญาตได้ ลาได้ปีละ ๑๐ วันทำการ หากมิได้ลาหรือลาไม่ครบ ให้สะสมรวมกับปีต่อ ๆ ไปได้ไม่เกิน ๒๐ วันทำการ แต่สำหรับผู้รับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี สะสมได้ไม่เกิน ๓๐ วันทำการ ผู้ปฏิบัติงานในสถานศึกษาและได้หยุดราชการตามวันหยุดภาคการศึกษาเกินกว่าวันลาพักผ่อน ไม่มีสิทธิลาพักผ่อน ในส่วนของเงินวิทยฐานะหากลาพักผ่อนเกินสิทธิไม่ให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลา
                 ๖. การลาอุปสมบทหรือการลาไปประกอบพิธีฮัจย์ สำหรับผู้ที่รับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๒ เดือน หากตั้งแต่เริ่มรับราชการ ผู้ใดยังไม่เคยอุปสมบท หรือยังไม่เคยประกอบพิธีฮัจย์ ให้ผู้นั้นลาอุปสมบท หรือลาไปประกอบพิธีฮัจย์ แล้วแต่กรณี ได้ไม่เกิน ๑๒๐ วัน โดยได้รับเงินเดือนระหว่างลา หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาอนุญาต (เลขาธิการ กพฐ. มอบอำนาจให้ ผอ.สพท. มีอำนาจพิจารณาอนุญาตแล้ว) ในส่วนของเงินวิทยฐานะให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลาได้ไม่เกิน ๖๐ วัน
                 ๗. การลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล ลาได้โดยได้รับเงินเดือนระหว่างลา แต่เมื่อครบกำหนดแล้วไม่มารายงานตัวเพื่อเข้าปฏิบัติราชการภายใน ๗ วัน ให้งดจ่ายเงินเดือนไว้จนถึงวันเข้าปฏิบัติราชการ แต่หากหัวหน้าส่วนราชการเห็นสมควร ให้จ่ายเงินเดือนต่อไปอีกก็ได้ แต่ไม่เกิน ๑๕ วัน หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาอนุญาต ในส่วนของเงินวิทยฐานะให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลาได้ไม่เกิน ๖๐ วัน
/๘.การลา...


- ๒ -

                 ๘. การลาไปศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติการวิจัย หรือดูงาน ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ไม่เกิน ๔ ปีนับแต่วันไป จนถึงวันก่อนวันมารายงานตัวเพื่อเข้าปฏิบัติราชการ หากผู้อนุญาตเห็นสมควรให้ลาเกิน ๔ ปีก็ได้ แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน ๖ ปี ในประเทศผู้อำนวยการสถานศึกษา และ ผอ.สพท. อนุญาตได้ ต่างประเทศหัวหน้าส่วนราชการพิจารณาอนุญาต ในส่วนของเงินวิทยฐานะให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลาได้ไม่เกิน ๖๐ วัน
                 ๙. การลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ลาได้โดยไม่ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลา เว้นแต่อัตราเงินเดือนที่ได้รับจากองค์การระหว่างประเทศต่ำกว่าอัตราเงินเดือนของทางราชการ ให้ได้รับเงินเดือนจากทางราชการสมทบ รวมแล้วไม่เกินอัตราเงินเดือนของทางราชการที่ได้รับอยู่ในขณะนั้น รัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณาอนุญาต
ในส่วนของเงินวิทยฐานะไม่ให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลา
                ๑๐. การลาติดตามคู่สมรส (คู่สมรสไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในต่างประเทศ) ลาได้โดยไม่ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลา เป็นเวลาไม่เกิน ๒ ปี กรณีจำเป็นอาจอนุญาตให้ลาต่อได้อีก ๒ ปี แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน ๔ ปี ถ้าเกิน ๔ ปี ให้ลาออกจากราชการ หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาอนุญาต ในส่วนของเงินวิทยฐานะไม่ให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลา
                ๑๑. การลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ สำหรับผู้ได้รับอันตรายหรือการเจ็บป่วยเพราะเหตุปฏิบัติราชการในหน้าที่ หรือถูกประทุษร้ายเพราะเหตุกระทำการตามหน้าที่ จนทำให้ตกเป็นผู้ทุพพลภาพหรือพิการ ลาไปเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ ลาได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในหลักสูตร โดยได้รับเงินเดือนระหว่างลา แต่ต้องไม่เกิน ๑๒ เดือน หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาอนุญาต ในส่วนของเงินวิทยฐานะอยู่ระหว่างพิจารณากำหนดรายละเอียด เนื่องจากเป็นประเภทการลา
ที่กำหนดขึ้นใหม่
                  มีข้อสังเกตในการนับระยะเวลา บางแห่งจะนับเป็นวัน แต่บางแห่งจะนับเป็นวันทำการ ผู้เกี่ยวข้องต้องระมัดระวังอย่าให้ผิดพลาด ยกตัวอย่าง การลาป่วย อำนาจการอนุญาตจะอนุญาตเป็น “วัน” นั่นหมายความว่า ให้นับวันหยุดราชการไว้ในห้วงเวลาของอำนาจการอนุญาตด้วย ส่วนการลานับเป็น “วันทำการ” หมายความว่าไม่นับวันหยุดราชการ เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุญาตให้ครูลาป่วย ระหว่างวันที่ ๑ - ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗  เป็นการใช้อำนาจอนุญาต ๓๐ วัน แต่เวลานับวันลาของผู้ได้รับอนุญาต จะเป็นการใช้สิทธิในการลา ๒๑ วันทำการ เป็นต้น ดังนั้น ตรงไหนเป็น “วัน” ตรงไหนเป็น “วันทำการ” ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนอย่าให้พลาด เพราะอาจทำให้เสียสิทธิบางอย่างได้ 
                  คราวนี้มาดูในเรื่องการเลื่อนขั้นเงินเดือนกันบ้าง กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนของ
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้กำหนดสิทธิในการลากับการเลื่อนขั้นเงินเดือนในแต่ละรอบครึ่งปี) ไว้ อาทิ ในครึ่งปีที่แล้วมามีวันลา (ลาป่วย+ลากิจส่วนตัว) ไม่เกิน ๒๓ วันทำการ ลาคลอดบุตร ไม่เกิน ๙๐ วัน ลาป่วยซึ่งจำเป็นต้องรักษาตัวเป็นเวลานานคราวเดียวหรือหลายคราว รวมกันไม่เกิน ๖๐ วันทำการ (ไม่ใช่คนที่เป็นหวัด คัดจมูก ท้องเสีย ปวดท้อง ปวดศีรษะ ธรรมดาทั่ว ๆ ไป แต่เป็นประเภทอุบัติเหตุแขนหักขาหัก มะเร็ง ไตวาย เป็นต้น) กำหนดแยกแยะตัดตอนออกมาเป็นรอบ ๖ เดือนอีกต่างหาก
                  ฉะนั้น จะใช้อำนาจหรือจะใช้สิทธิอย่างไร อย่าให้ขัดแย้งอำนาจหรือสิทธิที่กำหนดไว้เชื่อมโยงไปมากมายหลายที่ และอยากจะฝากว่าสิทธิในการลาที่เขาให้ไว้ เป็นสวัสดิการหนึ่งที่เขาให้ไว้ใช้ยามจำเป็น ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้
ที่สำคัญคือ ๖ เดือน เลื่อนขั้นเงินเดือน ๑ ครั้ง ก็ต้องมีเวลาทุ่มเททำงานไม่น้อย แต่บางคนไม่ใช่ เช่น บางคนมีสิทธิลาพักผ่อน สะสมไว้ ๓๐ วันทำการ ลาครั้งหนึ่ง ๕ - ๑๐ วันทำการ คล่อมเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดอื่นเข้าไปอีก ปาเข้าไปครึ่งเดือน และไม่ใช่ลาครั้งเดียว หรือบางคนลาคลอดบุตร ๙๐ วัน ลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่ออีกต่างหาก พอไม่ได้ขั้นพิเศษก็เกิดอาการผิดปกติ อย่างนี้เป็นต้น จึงอยากจะเตือนสติว่า เมื่อได้ใช้สิทธิอื่นไปอย่างสุดโต่งแล้ว บางครั้งท่านก็ต้องยอมที่จะเสียสิทธิบางอย่างไปบ้าง เพราะในขณะที่ท่านได้และใช้สิทธิไปนั้น ท่านได้ทิ้งภาระไว้กับคนที่อยู่ทำงาน

ไม่น้อยเลย   

แหล่่งที่มา ·       สมเกียรติ  เอี่ยมโพธิ์  รอง ผอ.สพป.กำแพงเพชร เขต 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น