วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

การลาของข้าราชการครู

 การลาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 

                 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้แบ่งประเภทการลาไว้ ๑๑ ประเภท และ ก.ค.ศ. ได้กำหนดผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาต และอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตการลาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการลาประเภทต่าง ๆ ไว้ เรื่องของการลานั้นมีความเชื่อมโยงผูกพันในด้านการเงินหลายประเด็น ทั้งการได้รับเงินเดือนระหว่างลา การได้รับเงินวิทยฐานะ การเลื่อนขั้นเงินเดือน ซึ่งจะขอกล่าวไว้
ณ ที่นี้ ตามลำดับดังนี้
                 ๑. การลาป่วย ผู้อำนวยการสถานศึกษา อนุญาตได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน ๖๐ วัน ผอ.สพท. อนุญาตได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน ๑๒๐ วัน การลาป่วยที่รักษาตัวเป็นเวลานาน ปีหนึ่งลาโดยได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ไม่เกิน ๖๐ วันทำการ แต่หากหัวหน้าส่วนราชการเห็นสมควร ให้จ่ายเงินเดือนต่อไปอีกก็ได้ แต่ไม่เกิน ๖๐ วันทำการ (รวม ๒ ขั้นตอน ไม่เกิน ๑๒๐ วันทำการ เลขาธิการ กพฐ. มอบอำนาจให้ ผอ.สพท. มีอำนาจพิจารณาอนุญาตแล้ว) ถ้าเกินไม่ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลา ในส่วนของเงินวิทยฐานะให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลาได้ปีหนึ่งไม่เกิน ๖๐ วันทำการ  
                 ๒. การลาคลอดบุตร ผู้อำนวยการสถานศึกษา และ ผอ.สพท. อนุญาตได้ ลาได้ไม่เกิน ๙๐ วัน โดยได้รับเงินเดือนระหว่างลา ในส่วนของเงินวิทยฐานะให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลาได้ไม่เกิน ๙๐ วัน
                 ๓. การลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร ผู้อำนวยการสถานศึกษา และ ผอ.สพท. อนุญาตได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน ๑๕ วันทำการ และหากลาภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ภริยาคลอดบุตร ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ไม่เกิน ๑๕ วันทำการ หากลาเมื่อพ้น ๓๐ วันนับแต่วันที่ภริยาคลอดบุตร ไม่ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลา ในส่วนของเงินวิทยฐานะอยู่ระหว่างพิจารณากำหนดรายละเอียด เนื่องจากเป็นประเภทการลาที่กำหนดขึ้นใหม่
                 ๔. การลากิจส่วนตัว ผู้อำนวยการสถานศึกษา อนุญาตได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน ๓๐ วัน ผอ.สพท. อนุญาตได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน ๔๕ วัน  ปีหนึ่งลาโดยได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ไม่เกิน ๔๕ วันทำการ แต่ในปีที่เริ่มรับราชการ ลาโดยได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ไม่เกิน ๑๕ วันทำการ การลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตร ลาได้ไม่เกิน ๑๕๐ วันทำการ โดยไม่ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลา ในส่วนของเงินวิทยฐานะให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลาได้ปีหนึ่งไม่เกิน ๔๕ วันทำการ แต่ในปีที่เริ่มรับราชการให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลาได้ไม่เกิน ๑๕ วันทำการ 
                 ๕. การลาพักผ่อน ผู้อำนวยการสถานศึกษา และ ผอ.สพท. อนุญาตได้ ลาได้ปีละ ๑๐ วันทำการ หากมิได้ลาหรือลาไม่ครบ ให้สะสมรวมกับปีต่อ ๆ ไปได้ไม่เกิน ๒๐ วันทำการ แต่สำหรับผู้รับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี สะสมได้ไม่เกิน ๓๐ วันทำการ ผู้ปฏิบัติงานในสถานศึกษาและได้หยุดราชการตามวันหยุดภาคการศึกษาเกินกว่าวันลาพักผ่อน ไม่มีสิทธิลาพักผ่อน ในส่วนของเงินวิทยฐานะหากลาพักผ่อนเกินสิทธิไม่ให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลา
                 ๖. การลาอุปสมบทหรือการลาไปประกอบพิธีฮัจย์ สำหรับผู้ที่รับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๒ เดือน หากตั้งแต่เริ่มรับราชการ ผู้ใดยังไม่เคยอุปสมบท หรือยังไม่เคยประกอบพิธีฮัจย์ ให้ผู้นั้นลาอุปสมบท หรือลาไปประกอบพิธีฮัจย์ แล้วแต่กรณี ได้ไม่เกิน ๑๒๐ วัน โดยได้รับเงินเดือนระหว่างลา หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาอนุญาต (เลขาธิการ กพฐ. มอบอำนาจให้ ผอ.สพท. มีอำนาจพิจารณาอนุญาตแล้ว) ในส่วนของเงินวิทยฐานะให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลาได้ไม่เกิน ๖๐ วัน
                 ๗. การลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล ลาได้โดยได้รับเงินเดือนระหว่างลา แต่เมื่อครบกำหนดแล้วไม่มารายงานตัวเพื่อเข้าปฏิบัติราชการภายใน ๗ วัน ให้งดจ่ายเงินเดือนไว้จนถึงวันเข้าปฏิบัติราชการ แต่หากหัวหน้าส่วนราชการเห็นสมควร ให้จ่ายเงินเดือนต่อไปอีกก็ได้ แต่ไม่เกิน ๑๕ วัน หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาอนุญาต ในส่วนของเงินวิทยฐานะให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลาได้ไม่เกิน ๖๐ วัน
/๘.การลา...


- ๒ -

                 ๘. การลาไปศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติการวิจัย หรือดูงาน ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ไม่เกิน ๔ ปีนับแต่วันไป จนถึงวันก่อนวันมารายงานตัวเพื่อเข้าปฏิบัติราชการ หากผู้อนุญาตเห็นสมควรให้ลาเกิน ๔ ปีก็ได้ แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน ๖ ปี ในประเทศผู้อำนวยการสถานศึกษา และ ผอ.สพท. อนุญาตได้ ต่างประเทศหัวหน้าส่วนราชการพิจารณาอนุญาต ในส่วนของเงินวิทยฐานะให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลาได้ไม่เกิน ๖๐ วัน
                 ๙. การลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ลาได้โดยไม่ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลา เว้นแต่อัตราเงินเดือนที่ได้รับจากองค์การระหว่างประเทศต่ำกว่าอัตราเงินเดือนของทางราชการ ให้ได้รับเงินเดือนจากทางราชการสมทบ รวมแล้วไม่เกินอัตราเงินเดือนของทางราชการที่ได้รับอยู่ในขณะนั้น รัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณาอนุญาต
ในส่วนของเงินวิทยฐานะไม่ให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลา
                ๑๐. การลาติดตามคู่สมรส (คู่สมรสไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในต่างประเทศ) ลาได้โดยไม่ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลา เป็นเวลาไม่เกิน ๒ ปี กรณีจำเป็นอาจอนุญาตให้ลาต่อได้อีก ๒ ปี แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน ๔ ปี ถ้าเกิน ๔ ปี ให้ลาออกจากราชการ หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาอนุญาต ในส่วนของเงินวิทยฐานะไม่ให้เบิกจ่ายเงินวิทยฐานะระหว่างลา
                ๑๑. การลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ สำหรับผู้ได้รับอันตรายหรือการเจ็บป่วยเพราะเหตุปฏิบัติราชการในหน้าที่ หรือถูกประทุษร้ายเพราะเหตุกระทำการตามหน้าที่ จนทำให้ตกเป็นผู้ทุพพลภาพหรือพิการ ลาไปเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ ลาได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในหลักสูตร โดยได้รับเงินเดือนระหว่างลา แต่ต้องไม่เกิน ๑๒ เดือน หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาอนุญาต ในส่วนของเงินวิทยฐานะอยู่ระหว่างพิจารณากำหนดรายละเอียด เนื่องจากเป็นประเภทการลา
ที่กำหนดขึ้นใหม่
                  มีข้อสังเกตในการนับระยะเวลา บางแห่งจะนับเป็นวัน แต่บางแห่งจะนับเป็นวันทำการ ผู้เกี่ยวข้องต้องระมัดระวังอย่าให้ผิดพลาด ยกตัวอย่าง การลาป่วย อำนาจการอนุญาตจะอนุญาตเป็น “วัน” นั่นหมายความว่า ให้นับวันหยุดราชการไว้ในห้วงเวลาของอำนาจการอนุญาตด้วย ส่วนการลานับเป็น “วันทำการ” หมายความว่าไม่นับวันหยุดราชการ เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุญาตให้ครูลาป่วย ระหว่างวันที่ ๑ - ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗  เป็นการใช้อำนาจอนุญาต ๓๐ วัน แต่เวลานับวันลาของผู้ได้รับอนุญาต จะเป็นการใช้สิทธิในการลา ๒๑ วันทำการ เป็นต้น ดังนั้น ตรงไหนเป็น “วัน” ตรงไหนเป็น “วันทำการ” ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนอย่าให้พลาด เพราะอาจทำให้เสียสิทธิบางอย่างได้ 
                  คราวนี้มาดูในเรื่องการเลื่อนขั้นเงินเดือนกันบ้าง กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนของ
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้กำหนดสิทธิในการลากับการเลื่อนขั้นเงินเดือนในแต่ละรอบครึ่งปี) ไว้ อาทิ ในครึ่งปีที่แล้วมามีวันลา (ลาป่วย+ลากิจส่วนตัว) ไม่เกิน ๒๓ วันทำการ ลาคลอดบุตร ไม่เกิน ๙๐ วัน ลาป่วยซึ่งจำเป็นต้องรักษาตัวเป็นเวลานานคราวเดียวหรือหลายคราว รวมกันไม่เกิน ๖๐ วันทำการ (ไม่ใช่คนที่เป็นหวัด คัดจมูก ท้องเสีย ปวดท้อง ปวดศีรษะ ธรรมดาทั่ว ๆ ไป แต่เป็นประเภทอุบัติเหตุแขนหักขาหัก มะเร็ง ไตวาย เป็นต้น) กำหนดแยกแยะตัดตอนออกมาเป็นรอบ ๖ เดือนอีกต่างหาก
                  ฉะนั้น จะใช้อำนาจหรือจะใช้สิทธิอย่างไร อย่าให้ขัดแย้งอำนาจหรือสิทธิที่กำหนดไว้เชื่อมโยงไปมากมายหลายที่ และอยากจะฝากว่าสิทธิในการลาที่เขาให้ไว้ เป็นสวัสดิการหนึ่งที่เขาให้ไว้ใช้ยามจำเป็น ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้
ที่สำคัญคือ ๖ เดือน เลื่อนขั้นเงินเดือน ๑ ครั้ง ก็ต้องมีเวลาทุ่มเททำงานไม่น้อย แต่บางคนไม่ใช่ เช่น บางคนมีสิทธิลาพักผ่อน สะสมไว้ ๓๐ วันทำการ ลาครั้งหนึ่ง ๕ - ๑๐ วันทำการ คล่อมเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดอื่นเข้าไปอีก ปาเข้าไปครึ่งเดือน และไม่ใช่ลาครั้งเดียว หรือบางคนลาคลอดบุตร ๙๐ วัน ลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่ออีกต่างหาก พอไม่ได้ขั้นพิเศษก็เกิดอาการผิดปกติ อย่างนี้เป็นต้น จึงอยากจะเตือนสติว่า เมื่อได้ใช้สิทธิอื่นไปอย่างสุดโต่งแล้ว บางครั้งท่านก็ต้องยอมที่จะเสียสิทธิบางอย่างไปบ้าง เพราะในขณะที่ท่านได้และใช้สิทธิไปนั้น ท่านได้ทิ้งภาระไว้กับคนที่อยู่ทำงาน

ไม่น้อยเลย   

แหล่่งที่มา ·       สมเกียรติ  เอี่ยมโพธิ์  รอง ผอ.สพป.กำแพงเพชร เขต 

วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ยุทธศาสตร์ คืออะไร

ยุทธศาสตร์ คืออะไร
ความหมายของยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ (Strategy) มีนักวิชาการได้ให้ทัศนะไว้อย่างหลากหลายและน่าสนใจดังต่อไปนี้
Bryson (1995) ได้แสดงทัศนะไว้ว่า ยุทธศาสตร์ (Strategy) คือรูปแบบของวัตถุประสงค์ นโยบาย โครงการ กิจกรรม การตัดสินใจ หรือการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นปัจจัยกำหนดว่า องค์การคือใครทำอะไร และทำไปทำไม ยุทธศาสตร์แตกต่างกันตามระดับของหน่วยงาน และช่วงเวลา
Johnson and Scholes (1999) ได้ให้ความหมายไว้ว่า ยุทธศาสตร์ (Strategy) คือทิศทางและขอบเขตขององค์การในระยะยาว เพื่อให้บรรลุประโยชน์แก่องค์การโดยผ่านการจัดสรรทรัพยากรภายใต้ภาวะแวดล้อมแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและความคาดหวังของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
Jonas (2000) ได้กำหนดไว้ว่า ยุทธศาสตร์ไม่ใช่พันธกิจ แต่ยุทธศาสตร์ คือแผน (Plan) ที่จะนำองค์การให้บรรลุพันธกิจที่กำหนด หากองค์การต้องการชัยชนะองค์การต้องเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต และกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะนำองค์การไปสู่อนาคตที่เตรียมพร้อมไว้
Hill & Jones (2009) ได้กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ คือชุดของการปฏิบัติการซึ่งผู้บริหารเลือกนำมาใช้เพื่อเพิ่มสมรรถนะขององค์การของตนเมื่อเทียบกับคู่แข่ง หากผลของการใช้ยุทธศาสตร์ทำให้องค์การมีสมรรถนะที่เหนือกว่า สิ่งนี้หมายถึงการมีความสามารถในการแข่งขัน Sergay (2012) ได้แสดงทัศนะไว้ว่า ยุทธศาสตร์ หมายถึง กลไกหรือเครื่องมือที่จะทำให้องค์การมีหรือเพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่ต้องการ สำหรับทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และแนวทางหรือวิธีการที่จะช่วยให้ได้มาซึ่งความสามารถในการแข่งขันดังกล่าวนี้
ทิวากร นุกิจ (2555) ให้ความหมายไว้ว่า ยุทธศาสตร์เป็นเทคนิคที่ใช้อยู่ในกิจการทหารมีหลักฐานอยู่ในตำราพิชัยสงคราม ซุนวูของจีนได้รวบรวมหลักการวางแผนยุทธศาสตร์ทางการทหารไว้ ปัจจุบันนักธุรกิจภาคเอกชน ได้ประยุกต์แนวคิดและวิธีการของแผนยุทธศาสตร์มาใช้ในการแข่งขันทางธุรกิจโดยคำนึงถึง การแข่งขันให้อยู่รอด การมุ่งหวังผลกำไรเป็นหลัก ต่อมาภาครัฐได้นำแนวทางของภาคเอกชน มาใช้ประยุกต์ต่อเพื่อให้การบริหารงานภาครัฐสามารถปรับกลไกได้ทันยุคสมัยโดยคำนึงถึงการสนองความต้องการของประชาชนเป็นหลัก)
เสรี พงศ์ (2548) ได้แสดงความเห็นไว้ว่า ยุทธศาสตร์ เป็นแผนการดำเนินงานที่ร่างขึ้นมาอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีองค์ประกอบต่างๆ สัมพันธ์สอดคล้องกัน เป็นแผนที่มีวิสัยทัศน์หรือภาพฝันที่วาดไว้ เป็นการร่วมจิต มีเป้าประสงค์อันแสดงถึงเป้าหมายร่วมของทุกฝ่าย  ผนึกพลังใจของทุกฝ่ายเพื่อกระทำพันธกิจอันถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เพื่อให้เกิดผลกระทบและได้ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ แผนยุทธศาสตร์ที่ดีมาจากการวิเคราะห์อดีต รู้ปัจจุบัน เพื่อไล่ให้ทันอนาคต วิเคราะห์สถานการณ์ที่ผ่านมา วิเคราะห์ทรัพยากร ทุนต่างๆ อันเป็นศักยภาพหรือความสามารถที่ยังไม่ได้พัฒนาหรือยังไม่ได้พัฒนาเต็มที่ หรือที่ยังซ่อนเร้นอยู่ แผนยุทธศาสตร์ที่ดีเป็นผลที่เกิดจากกระบวนการวางแผนที่ดี บริหารจัดการแผนอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดเป็นประสิทธิผลที่ปรากฏจริง เป็นแผนที่มีเป้าประสงค์ดี ก่อให้เกิดการร่วมใจ มีหลักการดีก่อให้เกิดการร่วมคิด มีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดการร่วมทำ และมีการแบ่งบทบาทหน้าที่จัดการดี ก่อให้เกิดการร่วมแรง ในภาษาไทยก็พูดกันเป็นวลีว่า ร่วมแรงร่วมใจ ร่วมคิดร่วมทำ
จากความหมายของยุทธศาสตร์ที่กล่าวมาแล้ว สามารถสรุปได้ว่า ยุทธศาสตร์ คือทิศทาง นโยบาย และกระบวนการที่องค์การตัดสินใจเลือก เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีอนาคตเป็นตัวกำหนด

องค์ประกอบของยุทธศาสตร์ 
องค์ประกอบของยุทธศาสตร์ประกอบด้วยพื้นฐาน 5 ประการ คือ
1) การกำหนดทิศทาง (Direction Setting)
2)  การประเมินองค์การและสภาพแวดล้อม (Environment Scanning)
3) การกำหนดยุทธศาสตร์ (Strategy Formulation)
4) การดำเนินยุทธศาสตร์ (Strategy Implementation)
5)  การประเมินผลและการควบคุม (Evaluation and Control)


การกำหนดทิศทาง
ในการกำหนดทิศทางขององค์การจะประกอบด้วย  การกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) และการกำหนดภารกิจ (Mission) หรือ กรอบในการดำเนินงานที่ชัดเจนจะช่วยให้องค์การสามารถกำหนดทิศทางในระยะยาว ภารกิจ (Mission) ในกระบวนการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์นั้น  ขั้นแรกองค์การจะต้องระบุภารกิจและเป้าหมายหลักที่สำคัญของบริษัท  ซึ่งภารกิจ หมายถึง ประกาศหรือข้อความของบริษัทที่พยายามกำหนดว่าจะทำอะไรในปัจจุบัน  และกำลังจะทำอะไรในอนาคตและองค์การเป็นองค์การแบบใด  และจะก้าวไปสู่การเป็นองค์การแบบใดทั้งนี้เพื่อบรรลุสู่ความเป็นเลิศเหนือคู่แข่ง  ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วข้อความเรื่องภารกิจขององค์การจะประกอบไปด้วย  ข้อความที่บ่งบอกถึงคุณค่าทางปรัชญาสำคัญที่ผู้บริหารตัดสินใจกระทำ  ซึ่งแสดงถึงพันธะของบริษัทที่มีต่อเป้าหมายและสอดคล้องกับคุณค่าของผู้บริหาร  นอกจากนี้แล้วภารกิจยังจะสร้างสภาพแวดล้อมในการกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมาย คือการบอกถึงสิ่งที่องค์การปรารถนาให้เกิดขึ้นในอนาคต และพยามบรรลุ  โดยมีการกำหนดให้ชัดเจน กระชับ  ตรงจุด และสามารรถวัดได้  ทั้งนี้การกำหนดเป้าหมายจะมีการกำหนดให้ชัดเจนขึ้นกว่าการกำหนดภารกิจว่าจะต้องทำสิ่งใด

การประเมินองค์การและสภาพแวดล้อม (Environment Scanning)
ในการประเมินสภาพแวดล้อมขององค์การนั้นจะประกอบไปด้วยการประเมินสภาพแวดล้อมภายนอก และการประเมินสภาพแวดล้อมภายใน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทราบถึง  จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค  หรือโดยทั่วไปจะเรียกว่าการวิเคราะห์ตามตัวแบบสว็อท  (SWOT Analysis) เป็นเครื่องมือในการประเมินสถานการณ์ ซึ่งช่วยผู้บริหารกำหนดจุดแข็งและจุดอ่อนจากสภาพแวดล้อมภายใน โอกาสและอุปสรรคจากสภาพแวดล้อมภายนอกตลอดจนผลกระทบที่มีศักยภาพจากปัจจัยเหล่านี้ต่อการทำงานขององค์กร SWOT มาจากตัวย่อภาษาอังกฤษ 4 ตัว ได้แก่
S มาจาก Strengths หมายถึง จุดเด่นหรือจุดแข็ง ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายใน เป็นข้อดีที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายในบริษัท เช่น จุดแข็งด้านส่วนประสม จุดแข็งด้านการเงิน จุดแข็งด้านการผลิต จุดแข็งด้านทรัพยากรบุคคล บริษัทจะต้องใช้ประโยชน์จากจุดแข็งในการกำหนดกลยุทธ์การตลาด
W มาจาก Weaknesses หมายถึง จุดด้อยหรือจุดอ่อน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายใน เป็นปัญหาหรือข้อบกพร่องที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายในต่างๆ ของบริษัท ซึ่งบริษัทจะต้องหาวิธีในการแก้ปัญหานั้น
O มาจาก Opportunities หมายถึง โอกาส ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอก เป็นผลจากการที่สภาพแวดล้อมภายนอกของบริษัทเอื้อประโยชน์หรือส่งเสริมการดำเนินงานขององค์กร โอกาสแตกต่างจากจุดแข็งตรงที่โอกาสนั้นเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมภายนอก แต่จุดแข็งนั้นเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมภายใน นักการตลาดที่ดีจะต้องเสาะแสวงหาโอกาสอยู่เสมอ และใช้ประโยชน์จากโอกาสนั้น
T มาจาก Threats หมายถึง อุปสรรค ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอก เป็นข้อจำกัดที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งธุรกิจจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องและพยายามขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น
การกำหนดยุทธศาสตร์ (Strategy Formulation)
การกำหนดยุทธศาสตร์เป็นการพัฒนาแผนระยะยาวบนรากฐานของโอกาสและอุปสรรค  ที่ได้จากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกและการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนที่ได้จากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในโดยองค์การจะต้องกำหนดและเลือกยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดที่เหมาะสมกับองค์การที่สุดผู้บริหารต้องพยายามตอบคำถามว่าทำอย่างไรองค์การจึงจะไปถึงเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ได้โดยใช้ความได้เปรียบในการแข่งขันขององค์การกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ 

การนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติ (Strategy Implementation)
การนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติ คือกระบวนการที่ผู้บริหารแปลงยุทธศาสตร์และนโยบาย  ไปสู่แผนการดำเนินงาน กำหนดรายละเอียดด้านต่าง ๆ เช่น ด้านงบประมาณหรือวิธีการดำเนินงาน ซึ่งกระบวนการนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภายในด้านวัฒนธรรม โครงสร้าง  หรือระบบการบริหาร  เพื่อให้สามารถดำเนินการตามยุทธศาสตร์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การประเมินผลและการควบคุม (Evaluation and Control)
การควบคุมกลยุทธ์ เป็นหน้าที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการติดตาม  ตรวจสอบ ประเมินผลยุทธศาสตร์ที่นำไปปฏิบัติ  ทั้งนี้ในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัตินั้นมักจะเกิดข้อผิดพลาดที่ต้องการการปรับปรุง  เพื่อให้แน่ใจว่ายุทธศาสตร์นั้นจะก่อให้เกิดผลการปฏิบัติงานที่ตรงตามแผนที่ได้ตั้งไว้
ลักษณะยุทธศาสตร์ที่ดี
1.  การกำหนดยุทธศาสตร์ ต้องเป็นกระบวนการที่มีส่วนร่วมจากทั้งผู้บริหาร พนักงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากองค์การ โดยมุ่งหวังให้เกิดการยอมรับในทุกฝ่ายในองค์การเพื่อให้ทราบถึงความสำคัญและวัตถุประสงค์ของการจัดทำยุทธศาสตร์
2.  ยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นมา ประกอบไปด้วย วิสัยทัศน์ พันธกิจขององค์การ ค่านิยมร่วม ประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ตามประเด็นยุทธศาสตร์ กลยุทธ์  ตัวชี้วัด  ค่าเป้าหมาย แผนงาน/โครงการ งบประมาณ และผู้รับผิดชอบแผนงา/โครงการ ต้องครอบคลุมทุกพันธกิจขององค์การและมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
3.  ยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นมาต้องมีความชัดเจน โดยในแผนยุทธศาสตร์อาจจำเป็จะต้องมีคำอธิบายประกอบเพื่อให้หน่วยงานสามารถนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอธิบายวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ ตัวชี้วัด
4.  ทุกหัวข้อหรือประเด็นในยุทธศาสตร์ต้องสอดคล้องเชื่อมโยงกันเพื่อให้ท้ายที่สุดขององค์การสามารถบรรลุเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ขององค์การ กล่าวคือ หากจะมองจากล่างบนพื้นฐานทุกโครงการจะต้องเป็นโครงการเชิงกลยุทธ์และสามารถสนับสนุนให้กลยุทธ์ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะส่งผลต่อความสำเร็จของยุทธศาสตร

 ประโยชน์ของยุทธศาสตร์ 
1.  ช่วยทำให้ผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานหันมาให้วามสนใจอย่างแท้จริงในเรื่องขององค์การมากขึ้น
2.  กระตุ้นให้ผู้บริหารทราบถึงปัญหา อุปสรรคตลอดจนการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นและเตรียมหามาตรการรองรับไว้ล่วงหน้าเป็นการลดความเสี่ยงและความเสียหาย
3.  ช่วยทำให้ผู้บริหารเข้าใจในธรรมชาติของการดำเนินงานอย่างชัดเจนขึ้นและมองเห็นภาพของการพัฒนา
4.  ช่วยให้การกำหนดวัตถุประสงค์ แผนงาน โครงการและการใช้ทรัพยากรขององค์การเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
5.  ช่วยสร้างความเข้าใจทุกคน และระหว่างสมาชิกขององค์การและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับทิศทางการดำเนินงาน ตลอดจนความคาดหวังต่าง ๆ
6.  ช่วยก่อให้เกิดการประสานงานและบูรณาการทางความคิดการดำเนินงานกิจกรรมต่าง ๆ อันเป็นการผนึกกำลังภายในองค์การ
สรุป  การวางแผนยุทธศาสตร์เป็นการแบ่งสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับเปลี่ยนองค์การให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง

ขั้นตอนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์
วัฒนา พัฒนพงษ์ (2546 : 30-32) กล่าวว่า ขั้นตอนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ มีขั้นตอนวิธีการดำเนินงานพอสรุปได้ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดวิสัยทัศน์ เป็นขั้นตอนของการกำหนดจุดมุ่งหมายที่ยาวไกลที่สุดขององค์กร โดยทั่วไปนิยมใช้เป็นจุดมุ่งหมายหลักขององค์กรไม่ควรเปลี่ยนบ่อยนัก ความจริงวิสัยทัศน์เป็นจุดมุ่งหมายที่มีอยู่แล้วในแผนแม่บทขององค์กรมาใช้หรือนำมาปรับปรุงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งการกำหนดวิสัยทัศน์ คือ การหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่า ความต้องการจะเป็นอะไร” (What do we want to be)
ขั้นตอนที่ 2 การกำหนดพันธกิจ เป็นขั้นตอนของการกำหนดวิธีการดำเนินงานเบื้องต้นเพื่อเป็นหลักประกันว่า สิ่งที่ต้องการจะเป็นนั้นมีโอกาสที่จะบรรลุถึงได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง พันธกิจ คือ การหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่า ทำไมเราจึงต้องจัดตั้งองค์กรของเราขึ้นมา” (Why do we exsist) คำตอบคือเราตั้งองค์การขึ้นมาเพื่อต้องการจะเป็นอย่างที่เราคาดหวังไว้
ขั้นตอนที่ 3 การกำหนดค่านิยมร่วม เป็นขั้นตอนของการกำหนดค่านิยมหลักขององค์กรที่จะสามารถทำหน้าที่เป็นเบ้าหลอมพฤติกรรมและความเชื่อของบุคคลขององค์กรให้เป็นในทิศทางเดียวกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง การกำหนดค่านิยมร่วม ก็คือ การหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่า อะไรคือสิ่งที่เราเชื่อ” (What do we believe in)
ขั้นตอนที่ 4 การกำหนดความสามารถหลัก เป็นขั้นตอนของการกำหนดความสามารถหลักขององค์กรที่จะสามารถทำหน้าที่เป็นเบ้าหลอมพฤติกรรมการทำงานของบุคลากรขององค์กรให้มีทักษะและความสามารถพิเศษในทิศทางที่องค์การต้องกร กล่าวอีกนัยหนึ่งการกำหนดความสามารถหลักก็คือการหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่า อะไรคือความสามารถหลักที่บุคลากรของเราควรมี” (What kind of core competency should we have)
ขั้นตอนที่ 5 การกำหนดวัตถุประสงค์หลัก เป็นขั้นตอนการกำหนดวัตถุประสงค์ระยะยาวขององค์กร หรือวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณฑ์สนธิในการจัดตั้งบริษัทสำหรับภาคเอกชน
ขั้นตอนที่ 6 การกำหนดจุดมุ่งหมายเชิงกลยุทธ์ หรือยุทธศาสตร์ ขั้นตอนการกำหนดจุดมุ่งหมายระดับกลยุทธ์ในรอบ 3 ปี หรือ 5 ปี ขององค์กรตามปกติองค์กรต้องกำหนดจุดมุ่งหมาย หรือเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ ในรอบ 3 ปี หรือ 5 ปี ขององค์กรแต่ละด้านมีอะไรบ้าง
ขั้นตอนที่ 7 การกำหนดดัชนีวัดความสำเร็จแบบสมดุล ขั้นตอนนี้ คือขั้นตอนการพิจารณาว่า จากจุดมุ่งหมายเชิงกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้นั้น สามารถนำมากำหนดเป็นดัชนีวัดความสำเร็จแบบสมดุลได้กี่ด้าน หรือกี่มิติ ตามทรรศนะของเคบแพลน และ นอร์ตัน (Kaplan and Norton ) ( วัฒนา พัฒนพงษ์. 2546 : 32) ได้กำหนดมิติของ BSC ไว้ 4 ด้าน คือ (1) มิติด้านการเงิน (2) มิติด้านกระบวนการภายใน (3) มิติด้านการเรียนรู้และการเติบโต (4) มิติด้านลูกค้า
ขั้นตอนที่ 8 การกำหนดกลุ่มผลสัมฤทธิ์หลัก เป็นขั้นตอนของการกำหนดกลุ่มผลสัมฤทธิ์หลักขององค์กร ซึ่งจะต้องกำหนดให้ได้ว่าอะไรคือผลสัมฤทธิ์หลักที่ต้องการ
ขั้นตอนที่ 9 การแปลงกลยุทธ์สู่การปฏิบัติด้วยการกำหนดรายชื่อแผนงานและโครงการ ขั้นตอนนี้ คือ ขั้นตอนที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างแผนกลยุทธ์และการนำแผน กลยุทธ์ไปปฏิบัติ กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการกำหนดคำตอบให้กับคำถามที่ว่า เราต้องการจะทำอะไรบ้างในทางปฏิบัติ กิจกรรมในขั้นตอนนี้จะมีอยู่ 2 ขั้นตอนหลักคือ
1)  ขั้นกำหนดรายชื่อแผนงาน วิธีการกำหนดรายชื่อแผนงานนิยม กำหนดโดยการระดมสมองเพื่อค้นหาปัญหาหลักขององค์กรว่าในรอบ 3 ปี หรือในรอบ 5 ปี องค์การนี้น่าจะมีปัญหาหลักอะไรบ้าง คำตอบที่ได้คือรายชื่อแผนงาน นั่นเอง
2)  ขั้นตอนกำหนดรายชื่อโครงการ โดยวิธีกำหนดรายชื่อโครงการนิยมกำหนดโดยการค้นหาสาเหตุของปัญหาหลักภายใต้แต่ละแผนงานว่ามีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง สาเหตุแต่ละสาเหตุก็คือ รายชื่อโครงการแต่ละโครงการนั่นเอง

การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมขององค์กร
การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมขององค์กร ด้วยเทคนิค (SWOTAnalysis)  เป็นการวิเคราะห์ศักยภาพปัจจัยภายในด้านจุดแข็ง จุดอ่อน และการวิเคราะห์ศักยภาพปัจจัยภายนอกด้านโอกาส และภาวะคุกคาม ซึ่งมีหลักการ ดังนี้
1)  การวิเคราะห์ศักยภาพปัจจัยภายในองค์กร เป็นการวิเคราะห์จุดแข็งหรือจุดเด่นอะไรบ้างที่มีผลต่อการพัฒนาองค์กรในการแก้ปัญหาความยากจน และมีจุดอ่อนอะไรบ้างที่มีผลต่อการพัฒนาองค์กรต้องช่วยกันปรับปรุงแก้ไข และช่วยกันเสริมสร้างให้เป็นจุดเด่นต่อไปได้อย่างไร โดยใช้ประเด็นด้านการบริหาร ได้แก่ โครงสร้างการบริหารองค์กร การบริการ คน งบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ สถานที่และการบริหารจัดการ เป็นกรอบในการวิเคราะห์
2)  การวิเคราะห์ศักยภาพปัจจัยภายนอกองค์กร เป็นการวิเคราะห์ด้านโอกาส ว่ามีโอกาสในการแข่งขันกับกลุ่มองค์กรอื่นๆ ได้อย่างไรบ้าง และการวิเคราะห์อุปสรรค ว่าได้รับภาวะคุกคามจากภายนอกในเรื่องอะไรบ้าง ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานขององค์กร โดยใช้ประเด็นด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และนโยบาย เป็นกรอบในการวิเคราะห์
วิธีการดำเนินการด้วยเทคนิค (SWOT Analysis) เป็นการระดม ความคิดเห็นร่วมกันของสมาชิกภายในองค์กร โดยจัดเวทีประชุมแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นประชาธิปไตย การวิเคราะห์ศักยภาพองค์กรด้วยเทคนิค (SWOT Analysis) มีวิธีการขั้นตอนดังต่อไปนี้
1)  ดำเนินการประชุมชี้แจง วัตถุประสงค์ ขั้นตอน วิธีการแสดงความคิดเห็น และให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางในการวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค
2)  จัดเวทีประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับความหมายของคำว่า องค์กร เช่น สวัสดิการ ความยากจน การแก้ปัญหาความยากจน แล้วรวบรวมข้อมูลที่ได้ไปกำหนดเป็นคำนิยามศัพท์ปฏิบัติการและเชื่อมโยงข้อมูลนำไปสู่การสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรในการแก้ปัญหาความยากจนของข้าราชการในขั้นตอนต่อไป
3)  เมื่อทุกกลุ่มแสดงความคิดเห็นโดยการเขียนลงในแผ่น ฟลิปชาร์ท หลังจากนั้นให้แต่ละกลุ่มนำเสนอในเวที ผู้วิจัยประมวลทุกความคิดเห็นลงในบัตรคำโดยนำจุดแข็งที่เหมือนกันสรุปเป็นภาพรวมเพื่อขอมติก่อนตัดสินใจ
4)  วิเคราะห์ในลักษณะเดียวกันให้ครบทั้งจุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค
5)  สรุปผลการวิเคราะห์ให้ครบทุกประเด็นแล้วนำเสนอเป็นภาพรวมจัดแยกกลุ่มให้ชัดเจนและนำเสนอต่อสมาชิกกลุ่ม

ความหมายของวิสัยทัศน์ (Vision)
นักวิชาการหลายท่าน เช่น วิทยากร เชียงกูล (2544 :13) ให้นิยามว่า วิสัยทัศน์ หมายถึง ภาพที่มีลักษณะในใจว่า องค์กร หรือสังคมสามารถที่จะเป็นเช่นใดได้ ความฝันเกี่ยวกับรูปร่างและความสำเร็จในอนาคต เป้าหมายในอนาคต การมองการณ์ไกลที่ผู้นำสามารถมองเห็นและชักชวนให้เพื่อนร่วมงานหรือสมาชิกร่วมมือสร้างสิ่งนั้นขึ้นมา เทียนชัย ชัยสุวรรณ (2539 : 5) กล่าวสรุปว่า วิสัยทัศน์ เป็นการมองเห็นอนาคตและการมีทัศนะเที่ยวไกล ส่วนศิริวรรณ เสรีรัตน์ (2539 : 24) ขยายความว่า วิสัยทัศน์ คือ เป้าหมายที่มีลักษณะกว้างขวางเป็นควมต้องการในอนาคตโดยไม่ได้กำหนดวิธีการเอาไว้ เป็นการสร้างความคิดโดยการใช้คำถาม (เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด บริการดีที่สุด) เป็นรูปแบบข้อเสนอและที่ไม่เจาะจง
จากความหมายข้างต้นสรุปได้ว่า วิสัยทัศน์ เป็นเรื่องการมองอนาคตข้างหน้า ที่กลุ่มคนหรือ องค์การคาดหวังให้เป็น โดยการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมซึ่งอาศัยประสบการณ์และข้อมูลในปัจจุบันเพื่อกำหนดหรือเป้าหมายเอาไว้ล่วงหน้า

ความหมายของ ภารกิจ (Mission)
ศิริวรรณ เสรีรัตน์ และคณะ (2539 : 25) กล่าวว่า ภารกิจ หมายถึง กิจกรรมขององค์กร ซึ่งจะระบุขอบเขตของการปฏิบัติการขององค์กรในปัจจุบันและอนาคต การยอมรับ ความรับผิดชอบและการทำประโยชน์เพื่อสังคม
อนิวัช  แก้วจำนง (2555 : 21) กล่าวว่า ภารกิจ  หมายถึง ข้อความที่แสดงให้เก็นถึงกิจกรรม การดำเนินงานหรือแนวทางหลักที่บ่งบอกลักษณะขององค์การในปัจจุบันและสิ่งที่องค์การต้องการจะทำให้เป็นผลสำเร็จ การกำหนดพันธกิจโดยทั่วไปต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ โดยข้อความในพันธกิจจะต้องระบุหรือกำหนดให้มีความเกี่ยวพันกับขอบเขตการปฏิบัติการขององค์การ

ความหมายของเป้าหมาย (Goal)
อนิวัช  แก้วจำนง (2555 : 26) กล่าวว่า เป้าหมาย หมายถึงสิ่งที่องค์การต้องการจะบรรลุหรือเป็นผลลัพธ์ที่เฉพาะเจาะจง สามารถวัดได้อาจมีระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง การกำหนดเป้าหมายองค์การทำให้มองเห็นจุดมุ่งหมายขององค์การที่แน่ชัดและมองเห็นทิศทางที่แน่นอน

ความหมายของวัตถุประสงค์ (Objective)
ณัฐพันธ์ เขจรนันทน์ และจินตนา บุญบงการ (2544 : 140-141) กล่าวว่า วัตถุประสงค์ หมายถึง เป้าหมายที่มีความเฉพาะเจาะจงและมีผลลัพธ์ที่สามารถวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อเทียบกับจุดมุ่งหมายขององค์กรในระดับอื่น วัตถุประสงค์เป็นถ้อยแถลงของสิ่งที่ องค์กรต้องการที่จะบรรลุ ซึ่งโดยปกติวัตถุประสงค์จะถูกกำหนดในรูปของความต้องการภายใต้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอน โดยวัตถุประสงค์สามารถจะจำแนกตามระยะเวลาออกเป็น 2 ระดับ คือ วัตถุประสงค์ในระยะสั้นซึ่งเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการดำเนินงานที่ครอบคลุมระยะเวลาไม่นานซึ่งปกติจะไม่เกิน 1 ปี และวัตถุประสงค์ระยะยาว ซึ่งเป็นความต้องการของธุรกิจที่ครอบคลุมระยะเวลามากกว่า 1 ปี โดยปกติองค์การจะกำหนดวัตถุประสงค์ระยะยาวตั้งแต่ 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี
นอกจากนี้วัตถุประสงค์มักจะถูกกำหนดในปริมาณที่ชัดเจนและสามารถวัดได้ และวัตถุประสงค์ยังเป็นส่วนสำคัญสำหรับความสำเร็จขององค์การ วัตถุประสงค์เป็นสิ่งที่ชัดเจนท้าทายสมเหตุสมผล และสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายขององค์การในระดับอื่นโดยองค์การที่มีหลายฝ่ายมักจะให้แต่ละหน่วยงานกำหนดวัตถุประสงค์ของตนให้สอดคล้องกันเป้าหมายและวัตถุประสงค์สามารถใช้แทนกันได้
การกำหนดยุทธศาสตร์
เมื่อวิสัยทัศน์และพันธกิจชัดเจนเป็นที่ยอมรับแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน การกำหนดยุทธศาสตร์ควรมีความสอดคล้องกับแนวโน้มที่สำคัญที่ระบุไว้ในการวิเคราะห์ศักยภาพปัจจัยภายในและภายนอกองค์การด้วย โดยพิจารณาโอกาสสำคัญที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมแล้วหาวิธีการที่จะใช้จุดแข็งขององค์การให้ได้ประโยชน์และพิจารณาจุดอ่อนขององค์การ รวมทั้งการพิจารณาถึงภาวะคุกคามที่สำคัญ ใช้จุดแข็งในการป้องกันตัวหรือนำไปใช้ในโอกาสอื่นที่เกิดขึ้น การกำหนดยุทธศาสตร์ มีขั้นตอน ดังนี้
1)  การพัฒนาวิสัยทัศน์และพันธกิจ องค์การจะต้องจัดให้มี วิสัยทัศน์และระบุพันธกิจไว้อย่างชัดเจน ในระบบงบประมาณแบบใหม่ที่เรียกว่า การงบประมาณที่มุ่งเน้นผลงาน หรือ PBB (Performance Base Budgeting) องค์การจะต้องเขียนวิสัยทัศน์พันธกิจ ในแบบฟอร์มของบประมาณ ของสำนักงานงบประมาณ
2)  การวิเคราะห์สถานการณ์ เป็นการวิเคราะห์สภาพขององค์การความต้องการของประชาชน และการวิเคราะห์สภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เป็นต้น
3)  การพัฒนายุทธศาสตร์ เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายซึ่งมาจากที่ตั้งไว้ โดยเป้าหมายมาจากผลผลิต (Output) วัตถุประสงค์มาจากผลลัพธ์ (Outcome) ส่วนเป้าประสงค์ (Goal) นั้นจะมาจากผลลัพธ์บั้นปลาย (Ultimate outcome) ที่ได้วางเอาไว้
4)  การนำไปสู่การปฏิบัติ โดยการนำเอาดัชนีชี้วัดมาตรวจสอบว่า ได้มีการดำเนินการไปตามแผนหรือไม่ อย่างต่อเนื่องเป็นไปตามห้วงระยะเวลา ความถี่ที่กำหนด
5)  สอบทาน ตรวจสอบ เป็นการประเมินผล โดยการนำเอาผลการ ตรวจสอบและประเมิน ตามห้วงระยะเวลาต่างๆ มาสรุป

การประเมินยุทธศาสตร์        
สุวิมล  ติรากานันท์ (2551:80 – 83) กล่าวว่ามาตรฐานการประเมินเป็นเครื่องมือใช้ในการประเมินแผนงานและโครงการองค์การ ประกอบด้วย 4 มาตรฐานย่อยคือ
1)  มาตรฐานการนำไปใช้ประโยชน์ ประกอบด้วยมาตรฐานที่กล่าวถึงเงื่อนไขการประเมินการที่นำไปใช้ประโยชน์ เป็นแนวทางที่บอกถึงประเด็นที่เกี่ยวกับความต้องการของผู้ใช้ผลการประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ประเมินขอบเขต และการเลือกใช้ข้อมูลความชัดเจนของการแปลผล ความชัดเจนของการเขียนรายงาน การเผยแพร่รายงาน การรายงานผล การประเมินผลตามระยะเวลาที่กำหนด และผลกระทบจากการประเมิน
2)  มาตรฐานความเป็นไปได้ ประกอบด้วย มาตรฐานเกี่ยวกับ ความเป็นไปได้ ในการที่จะดำเนินโครงการประเมินเป็นการพิจารณานับตั้งแต่เทคนิค วิธีการที่ใช้ไปจนถึงค่าใช้จ่ายในการประเมินประกอบด้วย ประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการเทคนิค ที่ใช้ในการปฏิบัติบรรยากาศการเมืองในองค์กรประสิทธิภาพด้านค่าใช้จ่าย
3) มาตรฐานความเหมาะสม ประกอบด้วย มาตรฐานเกี่ยวกับด้านความเหมาะสม เนื่องจากผลการประเมินมีผลต่อโครงการและแผนงานที่จะนำลงไปสู่ภาคปฏิบัติให้มีความเหมาะสมกับสภาพความต้องการของบุคคลในองค์กร
4)  มาตรฐานความถูกต้อง ประกอบด้วย มาตรฐานเกี่ยวกับความถูกต้อง เป็นการกล่าวถึงวิธีการประเมินในแต่ละขั้นตอนที่จะทำให้มั่นใจว่า การประเมินมีความแม่นยำถูกต้อง ประกอบด้วย ประเด็นเกี่ยวกับการอธิบายถึงสิ่งที่ถูกประเมินการวิเคราะห์บริบท การอธิบายวัตถุประสงค์และวิธีดำเนินการอธิบายแหล่งข้อมูลคือความตรงของการวัดความเที่ยงของการจวัดการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ การสรุปผลอย่างมีหลักการความชัดเจนในการรายงานผล


แหล่งที่มาขอขอบคุณแหล่งข้อมูล สรุปเกล็ดความรู้ ดร.เตชิต ตรีชัย และคณะ