บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของครู
ความหมายของคำว่า
“บทบาท” “หน้าที่” และ “ความรับผิดชอบ”
“บทบาท” ตามความหมายของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. 2542 หมายถึง “การกระทำหน้าที่กำหนดให้”
จาก Dictionary of Education “บทบาท” หมายถึง
1. ลักษณะพฤติกรรมที่แสดงออกชองแต่ละบุคคลภายในกลุ่มที่กำหนด
2. แบบกระสวนพฤติกรรมของหน้าที่ที่คาดหวัง
หรือหน้าที่บุคคลต้องกระทำให้บรรลุผลสำเร็จภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคมที่กำหนด
“บทบาท คือ
ภาระที่ต้องรับผิดชอบตามสถานภาพของแต่ละบุคคล” หมายความว่า บุคคลใดมีสถานภาพหรือตำแหน่งอย่างใด ก็ต้องรับผิดชอบตามสถานภาพหรือตำแหน่งของตนที่ได้มา
ไม่ว่าจะได้มาโดยกำเนิด โดยการกระทำ
หรือโดยการแต่งตั้งให้เป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง
“บทบาทของครู” หมายถึง
“ภาระที่ผู้เป็นครูต้องรับผิดชอบ”
หน้าที่ (Duty) ตามความหมายใน Dictionary of Education นั้น หมายถึง
สิ่งที่ทุกคนต้องทำ โดยปกติแล้วภาวะจำยอมจะเป็นไปตามหลักศีลธรรมแต่บางครั้งก็เป็นไปตามกฎหมาย
หรือข้อตกลง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.2525 ได้ให้ความหมายของ หน้าที่
ไว้ ดังนี้ คือ กิจที่ควรทำ,กิจที่ต้องทำ,วงแห่งกิจการ, สำหรับคำว่า ความรับผิดชอบ
ให้ความหมายไว้ ดังนี้ คือการยอมรับตามผลที่ดีและไม่ดีในกิจการที่ได้กระทำไป
Webster’s New International Dictionary
(third edition) ได้ให้คำนิยามของ ความรับผิดชอบ ไว้ ดังนี้
- ความรับผิดชอบด้านศีลธรรม กฎหมาย หรือ จิตใจ
- ความไว้ใจ
ความเชื่อถือได้
Dictionary of Education ได้ให้ความหมายของความรับผิดชอบไว้ ไว้ว่า “หน้าที่ประจำของแต่ละบุคคล
เมื่อเขาได้รับมอบหมายให้งานอย่างใดอย่างหนึ่ง”
1. บทบาท
คือภาระที่ต้องกระทำตามสถานภาพของแต่ละบุคคล
2. หน้าที่
หมายถึงกิจที่ต้องกระทำ หรือสิ่งที่บุคคลจำเป็นต้องกระทำ
ทั้งนี้อาจเป็นความจำเป็นตามหลักศีลธรรม กฎหมาย
หรือด้วยความสำนึกที่ถูกต้อองเหมาะสม
3. ความรับผิดชอบ
หมายถึง พฤติกรรมที่บุคคลจะต้องทำให้สำเร็จตามหน้าที่ที่กำหนด
หรือปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จอย่างดีที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้
อาจสรุปได้ว่า “บทบาททำให้เกิดภาระ
ภาระทำให้เกิดหน้าที่ และหน้าที่ทำให้เกิดความรับผิดชอบ” ดังนั้น บทบาท
หน้าที่และความรับผิดชอบของครู
หมายถึงกิจที่ผู้เป็นครูจำเป้นต้องกระทำให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์
ซึ่งอาจเป็นความจำเป็นต้องอาศัยหลักศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม กฎหมาย
หรือด้วยสำนึกในความถูกต้องเหมาะสมก็ได้
บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของครูตามรูปคำ
“TEACHERS”
T (Teaching) – การสอน หมายถึง การอบรมสั่งสอนศิษย์ให้มีความรู้
ความสามารถในวิชาการทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งถือว่าเป็นงานหลักของครูทุกคนทุกระดับชั้นที่สอน
ตามระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู พ.ศ. 2526 ข้อ 3 กำหนดไว้ว่า
ครูต้องตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วยเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตนให้แก่ศิษย์จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานมิได้
และในข้อ 6 กำหนดไว้ว่า ครูต้องถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพรางไม่นำหรือยอมให้นำ
ผลงานทางวิชาการของตนเองไปใช้ในทางที่ทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษยชาติ
ลีลาการสอนของพระพุทธเจ้า
4 ประการ
1.
สันทัสสา – ชี้แจงให้เห็นชัด
2.
สมาทปทา – ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
3.
สมุตเตชนา – เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
4.
สัมปหังสนา – ปลอบประโลมใจให้สดชื่นรื่นเริง
E(Ethics)-จริยธรรม หมายถึงหน้าที่ในการอบรมจริยธรรม
ให้แก่นักเรียนซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่หลักอีกประการหนึ่งนอกจากการสั่งสอนใน ด้านวิชาความรู้โดยทั่วไปนอกจากนี้ครูทุกคนจะต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็น
ผู้มีจริยธรรมอันเหมาะสมอีกด้วยเพราะพฤติกรรมอันเหมาะสมที่ครูได้แสดงออกจะ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปลูกฝังศรัทธาให้ศิษย์ได้ปฏิบัติตาม
A ( Academic) – วิชาการ หมายถึง
ครูต้องมีความรับผิดชอบในวิชาการอยู่เสมอ กล่าวคือ ครูต้องเป็นนักวิชาการอยู่ตลอดเวลา
เพราะอาชีพของครูต้องใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ ดังนั้นครูทุกคนต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เป็นประจำ
หากไม่กระทำเช่นนั้นจะทำให้ความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมานั้นล้าสมัย ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการใหม่
ๆ ซึ่งมีอย่างมากมายในปัจจุบัน
C (Cultural Heritage) – การสืบทอดวัฒนธรรม หมายถึงครูต้องมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมจากคน
รุ่นหนึ่งให้ตกทอดไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง หรือ รุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งมีวิธีการที่ครูจะกระทำได้
2 แนวใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ
1. ตัวครูเองเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตามวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามอย่างถูกต้องเป็นประจำ
กล่าวคือ ครูทุกคนจะต้องศึกษาให้เข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของ
ชาติอย่างถ่องแท้เสียก่อน ต่อจากนั้นจึงปฏิบัติตามให้ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้ศิษย์และประชาชนทั่วไปยึดถือเป็นแบบอย่าง
2. การอบรมสั่งสอนนักเรียนให้เข้าใจในวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทยอย่าง
ถูกต้อง และในขณะเดียวกันก็กระตุ้นส่งเสริมให้นักเรียนได้ประพฤติปฏิบัติตามให้ถูก ต้องตามแบบฉบับอันดีงามที่บรรพบุรุษได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา
H ( Human Relationship) – มนุษย์สัมพันธ์
หมายถึง การมีมนุษย์สัมพันธ์อันดีของครูต่อบุคคลทั่วๆไป เพราะการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีจะช่วยให้ครูสามารถปฏิบัติหน้าที่ของครู
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีของครูยังช่วยทำให้สถาบันศึกษาที่ครูปฏิบัติ
งานอยู่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วอีกด้วย ดังนั้น ครูทุกคนจึงควรถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบอีกประการหนึ่งที่จะต้องคอย
ผูกมิตรไมตรีอันดีระหว่าง บุคคลต่าง ๆ ที่ครูมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย มนุษย์สัมพันธ์ระหว่างครูกับบุคคลต่าง
ๆ อาจจำแนกได้ ดังนี้
ครูกับนักเรียน
1. สอนศิษย์ให้เกิดความสามารถในการเรียนรู้ในวิชาการต่าง
ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่ครูจะกระทำได้
2. สอนให้นักเรียนหรือศิษย์ของตนมีความสุขเพลิดเพลินกับการเล่าเรียนไม่เบื่อหน่าย
อยากจะเรียนอยู่ เสมอ
3. อบรมดูแลความประพฤติของศิษย์ให้อยู่ในระเบียบวินัยหรือกรอบของคุณธรรม
ไม่ปล่อยให้ศิษย์กระทำชั่วด้วยประการทั้งปวง
4. ดูแลความทุกข์สุขอยู่เสมอ
5. เป็นที่ปรึกษาหารือ
ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้แก่ศิษย์
ครูกับครู
1. ร่วมมือกันในการอบรมสั่งสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติอย่างสม่ำเสมอ
2. ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทางด้านวิชาการ
เช่น การแนะนำการสอน, แนะนำเอกสาร หรือแหล่ง วิทยาการให้
3. ช่วยเหลืองานส่วนตัวซึ่งกันและกันเท่าที่โอกาสจะอำนวย
4. ทำหน้าที่แทนกันเมื่อคราวจำเป็น
5. ให้กำลังใจในการทำงานซึ่งกันและกัน
ซึ่งอาจจะแสดงออกในรูปของวาจาหรือการกระทำก็ได้
6. กระทำตนให้เป็นผู้มีความสุภาพอ่อนน้อมต่อกันเสมอ
ไม่แสดงตนในทำนองยกตนข่มท่าน หรือแสดงตนว่าเราเก่งกว่าผู้อื่น
ครูกับผู้ปกครอง/ชุมชน
1. แจ้งผลการเรียนหรือความเจริญก้าวหน้าของศิษย์ให้ผู้ปกครองนักเรียนทราบเป็นระยะ
ๆ
2. ติดต่อกับผู้ปกครองเพื่อช่วยแก้ปัญหาของศิษย์ในกรณีที่ศิษย์มีปัญหาทางการเรียน
ความประพฤติ สุขภาพ อื่น ๆ
3. หาเวลาเยี่ยมเยียนผู้ปกครองเมื่อมีโอกาสอันเหมาะสม
เช่น เมื่อได้ข่าวการเจ็บป่วย หรือสมาชิกในครอบครัวถึงแก่กรรม เป็นต้น
4. เชิญผู้ปกครองร่วมทำกิจกรรมต่าง
ๆ ของโรงเรียน เช่น การแข่งขันกีฬา ประจำปี งานแจกประกาศนียบัตร
หรืองานชุมนุมศิษย์เก่า เป็นต้น
5. เมื่อได้รับเชิญไปร่วมงานของผู้ปกครองนักเรียน
เช่น งานอุปสมบท งานขึ้นบ้านใหม่ งานมงคลสมรส เป็นต้น
ต้องพยายามหาเวลาว่างไปให้ได้
6. ครูควรร่วมมือกันทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้และอาชีพให้ผู้ปกครองและ
ประชาชนในท้องถิ่นบ้าง จะทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของครูมากยิ่งขึ้น
7. เมื่อชุมชนได้ร่วมมือกันจัดงานต่าง
ๆ เช่น งานประจำปีของวัด หรือ งานเทศกาลต่าง ๆ
ครูควรให้ความร่วมมืออยู่อย่างสม่ำเสมอ
8. ครูควรแจ้งข่าวสารต่าง
ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง โดยให้ผู้ปกครองได้ทราบเป็นระยะ ๆ
ซึ่งอาจจะส่งข่าวสารทางโรงเรียน หรือการติดประกาศตามที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านก็ได้
E (Evaluation) – การประเมินผล หมายถึงการประเมินผลการเรียนการสอนนักเรียนซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่และความรับ
ผิดชอบที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งของครูเพราะการประเมินผลการเรียนการสอน เป็นการวัดความเจริญก้าวหน้าของศิษย์ในด้านต่างๆหากครูสอนแล้วไม่มีการ
ประเมินผลหรือวัดผลครูก็จะไม่ทราบได้ว่าศิษย์มีความเจริญก้าวหน้าในด้านใด มากน้อยเพียงใด
ดังนั้น ครูจึงควรจะระลึกอยู่เสมอว่า ณ ที่ใดมีการสอน ทีนั่นจะต้องมีการสอบ
สำหรับการประเมินผลการเรียนการสอนของนักเรียนนั้น ครูสามารถใช้วิธีการต่าง ๆ
ได้หลายวิธี ทั้งนี้อาจจะใช้หลาย ๆ วิธีในการประเมินผลครั้งหนึ่งหรือเลือกใช้เพียงวิธีการใดวิธีการหนึ่ง
ในการประเมินผลการเรียนการสอนนั้นมีหลายวิธี เช่น
1. การสังเกต หมายถึง
การสังเกตพฤติกรรมการทำงาน การร่วมกิจกรรมกลุ่มหรือความตั้งใจในการศึกษาเล่าเรียน
เป็นต้น
2. การสัมภาษณ์ หมายถึง การสัมภาษณ์เพื่อต้องการทราบความเจริญก้าวหน้าทางด้านการเรียนของนักเรียน
ซึ่งอาจจะเป็นการสัมภาษณ์ในเนื้อหาวิชาการที่เรียน วิธีการเรียน หรือวิธีการทำงาน
เป็นต้น
3. การทดสอบ หมายถึง
การทดสอบความรู้ในวิชาการที่เรียน อาจจะเป็นการทดสอบทางภาคทฤษฎีหรือภาคปฏิบัติก็ได้
ถ้าจะให้ได้ผลดียิ่งขึ้นก็ควรมีการทดสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในการ เรียนการสอนทุก
ๆ วิชา
4. การจัดอันดับคุณภาพ หมายถึง การนำเอาผลงานของนักเรียนแต่ละคนในกลุ่มมาเปรียบเทียบกันในด้านคุณภาพ
แล้วประเมินคุณภาพของนักเรียนแต่ละคนว่าคนใด ควรอยู่ในระดับใด
5. การใช้แบบสอบถามและแบบสำรวจ เป็นวิธีการประเมินผลการเรียนอีกแบบหนึ่ง
เพื่อสำรวจตรวจสอบคุณภาพการเรียนการสอนทั้งของนักเรียนและของครู
6. การบันทึกย่อและระเบียนสะสม เป็นวิธีที่ครูจดบันทึกพฤติกรรมความเจริญก้าวหน้าของนักเรียนแต่ละคนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
7. การศึกษาเป็นรายบุคคล หมายถึง เป็นวิธีการที่นิยมใช้กับนักเรียนที่มีปัญหาเป็นรายบุคคล ปัญหาในที่นี้หมายความว่า
ควบคุมทั้งเด็กที่เรียนเก่งและเด็กที่เรียนอ่อนรวมทั้งเด็กมีปัญหาในด้าน พฤติกรรมต่าง
ๆ ด้วย
8. การใช้วิธีสังคมมิติ เป็นวิธีการที่นิยมใช้เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มเดียวกันประเมินคุณภาพของบุคคล
ในสมาชิกเดียวกัน เพื่อตรวจสอบดูว่า สมาชิกคนใดได้รับความนิยมสูงสุดในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลาย
ๆ ด้านก็ได้
9. การให้ปฏิบัติและนำไปใช้ เป็นวิธีการที่ครูต้องการทราบพัฒนาการทางด้านทักษะหรือการปฏิบัติงานของนัก
เรียนหลังจากที่ได้แนะนำวิธีการปฏิบัติให้แล้ว การประเมินผลการเรียนการสอนทุก ๆ
วิชา ครูควรประเมินความเจริญก้าวหน้าของนักเรียนหลาย ๆ ด้าน ที่สำคัญ คือ
1. ด้านความรู้ (Cognitve Domain ) คือ
การวัดความรู้ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินผล
2. ด้านเจตคติ ( Affective
Domain) คือ การวัดความรู้สึก ค่านิยม
คุณธรรมและจริยธรรมของนักเรียนในด้านต่าง ๆ เช่น ความตรงต่อเวลา
ความมีระเบียบวินัย ความเอื้อ เฟื้อเผื่อแผ่ และความขยันขันแข็งในการทำงาน เป็นต้น
3. ด้านการปฏิบัติ
(Psychomotor Domain) คือการวัดด้านการปฏิบัติงานเพื่อต้องการทราบว่านักเรียนทำงานเป็นหรือไม่
หลังจากที่ได้ศึกษาภาคทฤษฎีแล้ว การวัดด้านการปฏิบัติงานหรือด้านทักษะนี้ ครูจะใช้มากหรือน้อยจะต้องขึ้นอยู่กับลักษณะวิชาที่สอน
วิชาใดเน้นการปฏิบัติงานก็จำเป็นต้องมีการวัดด้านการปฏิบัติงานให้มาก ส่วนวิชาใดเน้นให้เกิดความงอกงามทางด้านสติปัญญา
การวัดด้านการปฏิบัติงานก็จะลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ในการเรียนการสอนทุก ๆ วิชาควรจะมีการวัดในด้านการปฏิบัติงานบ้างตามสมควร
R (Research) – การวิจัย หมายถึง
ครูต้องเป็นนักแก้ปัญหา เพราะการวิจัยเป็นวิธีการแก้ปัญหาและการศึกษาหาความจริง ความรู้ที่เชื่อถือได้โดยวิธี
การวิจัยของครูในที่นี้ อาจจะมีความหมายเพียงแค่ค้นหาสาเหตุต่าง ๆ ที่นักเรียนมีปัญหาไปจนถึงการวิจัยอย่างมีระบบในชั้นสูงก็ได้
ขั้นตอนการวิจัย
1. การตั้งปัญหา
2. การตั้งสมมุติฐานเพื่อแก้ปัญหา
3. การรวบรวมข้อมูล
4. การวิเคราะห์ข้อมูล
5. สรุปผล
ขั้นตอนการทำงานวิจัย
1. การเลือกปัญหาสำหรับการวิจัย
2. การศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
3. การจำกัดขอบเขตและการให้คำจำกัดความของปัญหา
4. การตั้งสมมุติฐาน
5. การกำหนดประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
6. การสร้างเครื่องมือสำหรับการวิจัย
7. การรวบรวมข้อมูล
8. การวิเคราะห์และการแปลความหมายข้อมูล
9. การสรุป อภิปราย
และข้อเสนอแนะ
10. การรายงานผลการวิจัย
S (Service) บริการ หมายถึง
การให้บริการ คือ ครูจะต้องให้บริการแก่สังคมหรือบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ดังต่อไปนี้
1. บริการความรู้ทั่วไป ให้แก่นักเรียน ผู้ปกครอง
ประชาชนในท้องถิ่น
2. บริการความรู้ทางด้านความรู้และสุขภาพอนามัย
โดยเป็นผู้ให้ความรู้หรือเป็นผู้ประสานงานเพื่อดำเนินการให้ความรู้แก่ประชาชน
3. บริการด้านอาชีพ เช่น
ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเพื่อจัดฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นให้ประชาชนในท้องถิ่น
4. บริการให้คำปรึกษาหารือทางด้านการศึกษาหรือการทำงาน
5. บริการด้านแรงงาน เช่น
ครูร่วมมือกับนักเรียนเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน
6. บริการด้านอาคารสถานที่แก่ผู้ปกครองนักเรียนที่มาขอใช้อาคารสถานที่ในโรงเรียนด้วยความเต็มใจ
2. หน้าที่และความรับผิดชอบของครูตามทัศนะของบุคคลต่างๆ
บทบาทหน้าที่ของครู ตามทัศนะของท่านพุทธทาสภิกขุ
1. บทบาทของครู
ครู คือผู้นำทางวิญญาณ ทั้งแก่บุคคลและสังคม ใน 3
ประการคือ
(1) สอนให้รู้จักความรอดที่แท้จริง คือการดับทุกข์
(2) สอนให้รู้จักความสุขที่แท้จริง
คือความสุขจากการทำหน้าที่ หน้าที่นั้นแยกได้ 2 ประการคือประการที่ 1 คือ การบริหารชีวิตให้เป็นสุข
ประการที่ 2 คือ การใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
(3) สอนให้รู้จักหน้าที่ที่แท้จริง
คือรู้จักหน้าที่ในฐานะที่เป็นสิ่งสูงสุด รักที่จะทำหน้าที่และมีความสุขในการทำหน้าที่
2.
ครูเป็นผู้สร้างโลก บุคคลในโลกจะดีหรือเลว
ก็เพราะการศึกษาและผู้ให้การศึกษา ก็คือครู ดังนั้น ครูจึงเป็นผู้สร้างโลกในอนาคต
โดยผ่านศิษย์ โลกที่พึงประสงค์คือ โลกของคนดีอันเปรียบได้กับ
1) มนุษยโลก คือ
สร้างบุคคลที่มีจิตใจสูง
2) พรหมโลก คือ
สร้างบุคคลที่ประเสริฐรักเพื่อนมนุษย์ มีพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา
อุเบกขา
3) เทวโลก คือ สร้างบุคคลให้มีหิริ
โอตตัปปะ
3.
หน้าที่ของครู หน้าที่ของครู
คือสร้างความอยู่รอดของสังคม โดยการให้การศึกษาที่สมบูรณ์แก่ศิษย์ การศึกษาที่สมบูรณ์คือการศึกษาที่ครบองค์สาม
อันได้แก่
1) ให้ความรู้ทางโลก
หมายถึง การเรียนหนังสือ เพื่อพัฒนาสติปัญญาและการเรียนวิชาชีพ
เพื่อให้สามารถอยู่รอดทางกาย
2) ให้ความรู้ทางธรรม เพื่อให้ใจอยู่รอด
คือรอดพ้นจากความครอบงำของกิเลส มีความเป็นมนุษย์ คือใจสูง ใจสว่าง และใจสงบ
3) ให้รู้จักทำตนให้เป็นประโยชน์
ทั้งต่อตนเองและสังคม
หน้าที่ของครูอาจารย์พึงกระทำต่อศิษย์ตามหลักทิศ
6
1.
ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี
2.
สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
3.
สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
4.
ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ
5.
สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ
บทบาท/หน้าที่ของครูตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
1. วางแผนสร้างหน่วยการเรียนรู้
กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้
2. จัดทำแผนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด
เปิดโอกาสให้ผู้เรียนปฏิบัติจริง แสดงออกอย่างอิสระ และมีส่วนร่วมทุกกิจกรรม
3. จัดทำและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
ทั้งภายในภายนอกสถานศึกษา ชี้และจัดหาแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ในชุมชน เช่นห้องสมุด
พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ แหล่งผลิตศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ฯลฯ
4. พัฒนาตนเองให้เป็นบุคคลที่ใฝ่รู้
ทันต่อเหตุการณ์
5. เป็นแบบอย่างที่ดี มีคุณธรรม
ปฏิบัติดีต่อเพื่อนครู และนักเรียน
6. จัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียนและสถานศึกษาให้เอื้อต่อการเรียนรู้ให้มีบรรยากาศดึงดูดความสนใจ
ท้าทายให้ผู้เรียนอยากมีส่วนร่วม
7. จัดการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสภาพจริง
โดยประเมินจากการปฏิบัติ การสังเกต การสัมภาษณ์ จากแฟ้มสะสมงาน ฯลฯ
8.
จัดทำวิจัยในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้
9. จัดทำข้อมูลผู้เรียนเป็นรายบุคคล
โดยให้มีการประสานกันระหว่างสถานศึกษา บ้านและชุมชน
เพื่อการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์
นอกจากนี้ยังมีทัศคติอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของครูดังนี้
1. ทำการสอน อบรมนักเรียน ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ
คำสั่ง ประกาศและนโยบายของทางราชการ
2. เอาใจใส่ในการสอน ปรับปรุงการเรียนการสอนให้สม่ำเสมอ
3.
ส่งเสริมและเผยแพร่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
4. อบรมสั่งสอนและเผยแพร่ความรู้ ปลูกฝังวัฒนธรรม ค่านิยม
เอกลักษณ์ไทย
5. ส่งเสริมความสามัคคีในหมู่ครูและนักเรียน
6.
เอาใจใส่ในการปฏิบัติงานในหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ทอดทิ้งหรือละทิ้งหน้าที่การงาน
7.
ช่วยเหลือกิจการของโรงเรียนและรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย
8. ศึกษาหาความรู้ วิธีการสอน
วิธีประเมินผล
การใช้หนังสือเรียนและคู่มือการเรียนการ
สอนตามหลักสูตร
บทบาทของครูต่อการแก้ไขปัญหาสังคม
1.
ครูจะต้องเป็นนักวิจัย เก็บข้อมูลให้ละเอียดว่าปัญหาสังคมในปัจจุบันมีอะไรที่ครูจะต้องร่วมมือแก้ไข
2.
ครูต้องเป็นนักวิเคราะห์ เมื่อหาข้อมูลมาพร้อมก็นำปัญหาเหล่านั้นมาวิเคราะห์ต้นตอของปัญหาให้ละเอียด
3. ครูต้องเป็นนักวิจารณ์ทั้งปัญหาของตนเอง ของนักเรียนและสังคมด้วยวิธีจิตวิทยาเพื่อความกระจ่างของปัญหา ครูจะต้องเป็นคนกล้าที่จะแสดงว่า ครูเข้าใจปัญหาและพร้อมที่จะแก้ปัญหา
4.
ครูจะต้องมีความสามารถนำคุณค่าของบทเรียนมาเป็นตัวเชื่อมโยงผสมผสานให้เกิดการแก้ไขปัญหาในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
สรุปบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของครู
1. สอนศิลปวิทยาให้แก่ศิษย์ ซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญสำหรับครู
ครูที่ดีต้องทำการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาการสอนให้สอดคล้องกับความสามารถและความสนใจของนักเรียน
นอกจากนั้นต้องสามารถให้บริการการแนะแนวในด้านการเรียน การครองตน และรักษาสุขภาพอนามัย
จัดทำและใช้สื่อการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งสามารถปรับหลักสูตร การเรียนการสอนให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นและ
สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน
2. แนะแนวการศึกษาและอาชีพที่เหมาะสมให้แก่ศิษย์ เพื่อช่วยให้ศิษย์ของตนสามารถเลือกวิชาเรียนได้ตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ครูต้องคำนึงถึงสติปัญญา ความสามารถ และความถนัดของบุคลิกภาพของศิษย์ด้วย
3. พัฒนาและส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของศิษย์ โดยการจัดกิจกรรม
ซึ่งมีทั้งกิจกรรมการเรียนการสอนในหลักสูตร และกิจกรรมการเรียนการสอนนอกหลักสูตร
4. ประเมินผลความเจริญก้าวหน้าของศิษย์ เพื่อจะได้ทราบว่า
ศิษย์ได้พัฒนาและมีความเจริญก้าวหน้ามากน้อยเพียงใดแล้ว การประเมินผลความเจริญก้าวหน้าของศิษย์ควรทำอย่างสม่ำเสมอ
5. อบรมคุณธรรม จริยธรรม ความมีระเบียบวินัย
และค่านิยมที่ดีงามให้แก่ศิษย์ เพื่อศิษย์จะได้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมในวันหน้า
6. ปกครองดูแลความทุกข์สุขของศิษย์
7. ปฏิบัติตามกฎระเบียบของหน่วยงานและสถานศึกษา ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติครูและจรรยาบรรณครู
เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์
8. ดูแลสอดส่องป้องกันภัยพิบัติมิให้บังเกิดแก่ทรัพย์สินของโรงเรียน
9. ปฏิบัติงาน
ทำงานในหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
10. สร้างเสริมสมรรถภาพทางวิชาการให้แก่ตนเองอย่างสม่ำเสมอ
11.รักษาวินัยและประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์และบุคคลทั่วไป
แหล่งที่มา
http://www.kroobannok.com/2603