วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560

อกาลิโก

อกาลิโก
Akaliko

›››››ธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นอกาลิโก อยู่เหนือกาลเวลา เนื่องจากสัจจะธรรมนั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ดำรงอยู่ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีที่สุด เพราะไม่มีกาลเวลา เป็นสัจจะธรรมที่ตั้งอยู่ที่ทรงอยู่ที่ดำรงอยู่ และศาสนธรรม ธรรมะคือคำสั่งสอนก็เป็นอมตาวาจา เป็นวาจาที่ไม่ตาย เป็นสัจจะวาจา เพราะฉะนั้นจึงไม่ประกอบด้วยกาลเวลาเช่นเดียวกัน ดำรงอยู่ทุกกาลสมัย ธรรมะของสัตบุรุษทั้งหลายไม่เข้าถึงความชรา คือความแก่ความชำรุดทรุดโทรม ดำรงอยู่ทุกกาลสมัย เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาจึงได้ดำรงอยู่ ปฏิบัติได้อยู่ ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนถึงบัดนี้โดยที่ไม่มีข้อบกพร่องที่จะต้องเพิ่มเติม ไม่มีข้อผิดพลาดที่จะต้องแก้ไข เพราะเป็นสัจจะวาจา เป็นอมตะวาจา วาจาที่เป็นสัจจะเป็นจริง จึงเป็นวาจาที่ไม่ตาย หรือไม่แก่ ไม่ตาย ดำรงอยู่ดังกล่าว ในการปฏิบัตินั้นเล่า ซึ่งเป็นปฏิบัติธรรม ก็ปฏิบัติได้ทุกกาลสมัย ปฏิบัติได้ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนถึงบัดนี้ และต่อไปก็ปฏิบัติได้ ผู้ปฏิบัติเองเท่านั้นประกอบด้วยกาลเวลา คือปฏิบัติเมื่อนั่นเมื่อนี่ ปฏิบัติบ้างไม่ปฏิบัติบ้าง เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติเองจึงประกอบด้วยกาลเวลา แต่ธรรมะที่ปฏิบัตินั้น ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา อันหมายความว่าปฏิบัติได้ทุกกาลสมัย ใช้ได้ทุกกาลสมัย และผลของการปฏิบัตินั้น อย่างหนึ่งประกอบด้วยกาลเวลา เพราะเกี่ยวแก่ผลที่เป็นสิ่งเนื่องมาจากเหตุปัจจัยภายนอก เนื่องมาจากสิ่งที่เป็นส่วนสังขารคือสิ่งประสมปรุงแต่ง เช่นเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นอุปกรณ์ต่างที่ให้เกิดสุขให้เกิดทุกข์ อันเกี่ยวแก่โลก เกี่ยวแก่สังขาร เกี่ยวแก่เหตุปัจจัยที่เป็นบุคคลบ้าง เป็นวัตถุบ้าง ในภายนอก กล่าวรวมเข้ามาคือเกี่ยวแก่ส่วนที่เป็นร่างกาย หรือเกี่ยวแก่ขันธ์ 5 ซึ่งรวมเรียกว่าเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ก็ย่อมเนื่องในกาลเวลา แต่ที่ส่วนด้วยผลทางจิตใจแล้ว ไม่เกี่ยวด้วยกาลเวลา ปฏิบัติทางจิตใจตามหลักอริยสัจจ์ อันเป็นหลักคำสั่งสอนหลักของพุทธศาสนา ย่อมให้บังเกิดผลได้ทันที
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว เป็นธรรมอันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง เป็นธรรมไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เพราะเป็นสัจจะคือความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อันเป็นความจริงที่ทรงอยู่ดำรงอยู่ตลอดไปไม่มีกาลเวลา ว่าเกิดขึ้นเมื่อใดและจะดับไปเมื่อใด ธรรมะที่พระองค์ทรงสั่งสอนจากธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ก็เป็นสัจจะวาจา วาจาที่เป็นของจริงของแท้ อันเป็นอมตะวาจา วาจาที่ไม่ตาย ดังได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้อีกว่า สตญฺจ ธมฺโม น ชรํ อุเปติ ธรรมะของสัตบุรุษทั้งหลายไม่เข้าถึงชรา คือเก่าแก่พ้นสมัย แต่เป็นของที่ไม่ชราไม่เก่าแก่ไม่พ้นสมัยก็คือไม่ตายนั้นเอง เป็นสัจจะวาจาที่ดำรงอยู่ ดังที่ได้แสดงแล้วในครั้งก่อน และยังได้แสดงต่อไปอีกว่า การปฏิบัติธรรมก็ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา การให้ผลของธรรมที่ปฏิบัติก็ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา และแม้ว่าจะอธิบายคำว่าธรรมเป็น กุศลธรรม ธรรมที่เป็นกุศลคือส่วนดีเป็นกิจของคนฉลาด อกุศลธรรม ธรรมที่เป็นอกุศลคือส่วนชั่วเป็นกิจของคนไม่ฉลาด เป็น อัพยากตธรรม ธรรมะที่ไม่พยากรณ์ว่ากุศลหรืออกุศล คือเป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ก็คงเป็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นความจริง เมื่อเป็นอกุศลธรรมก็เป็นอกุศลธรรม เมื่อเป็นกุศลธรรมก็เป็นกุศลธรรม เมื่อเป็นอัพยากตธรรมก็เป็นอัพยากตธรรม อยู่ทุกกาลสมัย ซึ่งยังได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ถึงความเป็นใหญ่ตามที่ถือกันอยู่ แสดงกันอยู่ เป็นไปอยู่ คือโลกาธิปไตยโลกเป็นใหญ่ อัตตาธิปไตยตนเป็นใหญ่ ธรรมาธิปไตยธรรมะเป็นใหญ่
ผลกรรมประกอบด้วยกาลเวลา ดังนั้นธรรมสมาทานหรือการกระทำกรรมดีกรรมชั่วดังกล่าว มีการให้ผลประกอบด้วยกาลเวลาก็เพราะว่า เกี่ยวแก่สุขโสมนัส หรือว่าเกี่ยวแก่สุขทุกข์ เกี่ยวแก่เหตุปัจจัยที่นำให้ได้สุขได้ทุกข์ ซึ่งเป็น สังขาร คือสิ่งผสมปรุงแต่งเกี่ยวแก่นามรูปอันนี้ ชีวิตร่างกายอันนี้ แต่เกิดจากวัตถุทั้งหลายในโลก บุคคลทั้งหลายในโลกเป็นต้นที่เกี่ยวข้อง อันล้วนเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง เรียกว่าเกี่ยวแก่ภายนอก เหล่านี้จึงเนื่องด้วยกาลเวลา ในการปฏิบัติเกี่ยวแก่บุคคล เกี่ยวแก่เทศะ เกี่ยวแก่สิ่งทั้งหลายในโลก ต้องอาศัยกาลเวลามาประกอบ เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนไว้ว่าให้มีกาลัญญูให้รู้จักกาลเวลา
ส่วนที่ไม่เกี่ยวแก่กาลเวลา ก็คือเกี่ยวแก่ภูมิชั้นในจิตใจโดยตรง เกี่ยวแก่ข้อปฏิบัติทางจิตใจโดยตรง ซึ่งเข้าหลักอริยสัจจ์ทั้ง 4 ไม่เกี่ยวแก่กาลเวลา คือแม้ในการที่ประกอบกรรมต่างๆ ดีหรือชั่ว หรือสมาทานธรรมะอันเรียกว่าธรรมสมาทานฝ่ายกุศล หรือฝ่ายอกุศล เมื่อสมาทานฝ่ายอกุศล ประกอบกรรมฝ่ายอกุศล ก็เป็นคนชั่วขึ้นทันที ภูมิชั้นของตนของจิตใจก็เป็นชั่วขึ้นทันที เมื่อสมาทานฝ่ายกุศล ประกอบกรรมที่เป็นกุศล ภูมิชั้นของตนของจิตใจก็เป็นคนดีขึ้นทันที ภาวะของตน ของจิตใจ อันเป็นส่วนภายในนี้ เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ทำดีเมื่อใดก็เป็นคนดีเมื่อนั้น ทำชั่วเมื่อใดก็เป็นคนชั่วเมื่อนั้น ตนเองจะรู้หรือไม่รู้ตนเอง คนอื่นจะรู้หรือไม่รู้ ไม่เป็นประมาณ แต่ว่าเมื่อทำชั่วก็ต้องเป็นคนชั่วขึ้นทันที เมื่อทำดีก็ต้องเป็นคนดีขึ้นทันที นี้ในส่วนกรรม ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา
แต่ว่าที่เกี่ยวแก่ส่วนภายนอกเป็นสุขเป็นทุกข์ต่างๆ เป็นผลที่เกี่ยวแก่สุขทุกข์ต่างๆ นั้นจึงประกอบด้วยกาลเวลา เป็นภายนอก เป็นส่วนสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งในภายนอก เป็นส่วนโลกภายนอกส่วนตนที่เป็นภายใน จิตใจที่เป็นภายในของทุกคน นี่ไม่ประกอบด้วยกาลเวลาอย่างนั้น

แต่ว่าในข้อนี้ต้องอาศัยปัญญาที่พิจารณาดูตามเหตุและผล ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน แล้วจึงจะเข้าใจในสัจจะคือความจริงข้อนี้ และเมื่อเข้าใจในสัจจะความจริงข้อนี้ได้ ก็จะให้ผลดีแก่ตนเองมาก ทำให้ตนเองเกิดหิริความละอายใจต่อความชั่ว รังเกียจต่อความชั่ว โอตตัปปะความเกรงกลัวต่อความชั่ว เว้นความชั่ว มีฉันทะในอันทำความดี หรือกล่าวเป็นศัพท์แสงว่า เว้นอกุศลธรรมสมาทาน เว้นอกุศลกรรม แต่มาประกอบกุศลธรรมสมาทาน ประกอบกุศลกรรมต่างๆ
ธิปไตย 3
สำหรับที่เป็นโลกาธิไตย โลกเป็นใหญ่นั้นไม่แน่นอน โลกคือหมู่ชน บางคราวก็ว่าอย่างนั้นดี อย่างนี้ไม่ดี แต่บางคราวก็ว่ากลับกัน ว่าอย่างนี้ดี อย่างนั้นไม่ดี สุดแต่นิยมของหมู่ชน ส่วนข้อที่ว่าตนเป็นใหญ่นั้นก็ไม่แน่นอนเช่นเดียวกัน บางคราวตนเองก็ว่าอย่างนั้นดีอย่างนี้ไม่ดี แต่บางคราวก็ว่ากลับกัน ว่าอย่างนี้ดีอย่างนั้นไม่ดี ตามความคิดเห็นของตนที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เช่นเดียวนิยมของโลกที่เปลี่ยนไปมา แต่ว่าธรรมาธิปไตยธรรมะเป็นใหญ่นั้นเป็นสิ่งที่แน่นอน คือมุ่งเอาธรรมะที่เป็นสัจจะ คือความจริงเป็นใหญ่ เมื่อเป็นกุศลธรรมจริงก็ต้องเป็นกุศลอยู่ตลอดไป เมื่อเป็นอกุศลธรรมจริงก็เป็นอกุศลอยู่ตลอดไป เมื่อเป็นอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆ จริง ก็เป็นอัพยากตธรรมอยู่ตลอดไป ไม่มีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ตัณหาธิปไตย
ดังนั้นได้ทรงตรัสแสดงถึงอธิปไตยไว้ในพระสูตรอื่นอีกว่า ตัณหาธิปไตยตัณหาเป็นใหญ่ ธรรมาธิปไตยธรรมะเป็นใหญ่ สำหรับโลกาธิปไตยอัตตาธิปไตยนั้น ในเมื่อโลกคือหมู่ชนและอัตตา คือตัวเองยังมีตัณหาอยู่ ก็ย่อมจะต้องมีตัณหาธิไตยตัณหาเป็นใหญ่ แต่ถ้าโลกก็ดีตนเองก็ดีมีธรรมะเป็นใหญ่ ไม่ลุอำนาจแห่งตัณหา ก็เป็นธรรมาธิปไตย
สตาธิปไตย สติเป็นใหญ่
ในการที่จะไม่ลุอำนาจแห่งตัณหานั้น ก็จะต้องมีสติต้องมีปัญญา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสแสดงสติว่าเป็นสตาธิปไตย สติเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นข้อสอนให้ทุกๆ คนได้พากันทำสติความระลึกได้ ระลึกรู้ พร้อมกับปัญญาคือความรู้ทั่วถึง ให้เป็นสตาธิปไตย สติเป็นใหญ่ อันนำให้ได้ปัญญาเป็นใหญ่ จึงจะพบธรรมาธิปไตย ธรรมะที่เป็นใหญ่ได้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะต้องมีตัณหาธิปไตยตัณหาเป็นใหญ่กันอยู่นั่นแหละ จะอ้างว่าอะไรเป็นใหญ่กันก็ตาม แต่เมื่อลุอำนาจของตัณหากันอยู่ ก็ยังคงเป็นตัณหาธิปไตย ไม่อาจจะเข้าถึงธรรมาธิปไตยได้ เมื่อเข้าถึงธรรมาธิปไตยไม่ได้ ก็ทำให้เกิดความสุขความเจริญโดยส่วนเดียวไม่ได้ ต้องเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์เดือดร้อนกันอยู่ร่ำไป ตั้งแต่ส่วนน้อยจนถึงส่วนใหญ่ เพราะตัณหานั้นเป็นตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ดั่งที่ตรัสแสดงไว้ในอริยสัจจ์ทั้ง 4  เหล่านี้ก็เป็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริง ที่เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ในครั้งไหนๆ ยุคไหนๆ ในอดีต ในปัจจุบัน ตลอดไปถึงภายหน้า ก็เป็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริงอยู่นั่นเอง
การปฏิบัติที่เป็นอกาลิโก
ในการปฏิบัติธรรมที่เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลานั้น ก็คือการละอกุศลธรรม การทำกุศลธรรมให้ถึงพร้อม การชำระจิตของตนให้ผ่องใส เป็นข้อที่พึงปฏิบัติอยู่ทุกกาลสมัย ในวันหนึ่งๆ ก็ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเวลาเช้า เวลากลางวัน เวลาบ่าย เวลาเย็น เวลากลางคืน คือเป็นข้อที่พึงปฏิบัติอยู่ทุกเวลา
ฤกษ์งามยามดีขึ้นอยู่กับการกระทำ
โดยพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้อีกว่า ทำดีเช้าก็เป็นฤกษ์ดีเวลาเช้า ทำดีกลางวันก็เป็นฤกษ์ดีเวลากลางวัน ทำดีเวลาเย็นก็เป็นฤกษ์ดีเวลาเย็น เพราะฉะนั้นฤกษ์ดียามดีนั้นจึงขึ้นอยู่แก่การทำดี ทำดีเมื่อใดก็ฤกษ์ดียามดีเมื่อนั้น แม้ในทางพระวินัยพระพุทธเจ้าก็ตรัสแสดงถึงเวลาที่พึงประกอบกระทำ สังฆกรรมทั้งหลาย ว่าเป็นเวลาที่ความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว ดังที่แสดงไว้ในคำสวดสังฆกรรมว่า ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ ผิว่าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว ก็พึงประกอบสังฆกรรมนั้นๆ ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น ความพรั่งพร้อมของสงฆ์นี่แหละเป็นเวลาที่เรียกว่าฤกษ์ดียามดี ในการประกอบสังฆกรรมของสงฆ์  และเมื่อพิจารณาดูโดยสัจจะคือความจริงแล้วก็ย่อมจะเห็นว่า แม้ในการประกอบกิจกรรมทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีความพรั่งพร้อมถึงที่ ก็ประกอบกิจกรรมนั้นๆ ได้ เป็นสัจจะคือความจริงที่ใช้ได้อยู่ทุกกาลสมัย เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมจึงไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ดั่งที่กล่าว
ข้อพึงปฏิบัติเกี่ยวกับกาลเวลา
ส่วนของการกระทำในแต่ละข้อปฏิบัติอันเกี่ยวแก่ บุคคลกาละเทศะต่างๆ ดังที่ได้เคยแสดงแล้วว่า ให้แสดงธรรมะโดยกาล ให้สนทนาธรรมโดยกาล ให้มี กาลัญญู รู้กาลเวลา เหล่านี้ ก็เป็นข้อที่พึงปฏิบัติจำเพาะกิจจำเพาะอย่างที่เกี่ยวกับกาลเวลา อันเกี่ยวแก่บุคคลหรือหมู่ชนเป็นต้น ซึ่งคำสั่งสอนนี้ก็เป็นคำสั่งสอนที่ใช้ได้อยู่ทุกกาลสมัย แต่ที่กล่าวว่าการทำความดีทำได้ทุกกาลเวลานั้น ก็เป็นคำกล่าวรวมๆ เพราะความดีนั้นเมื่อจำแนกรายละเอียดไปก็มีมาก ความดีอะไรที่ควรทำก่อนทำหลัง ทำเวลาไหนที่ไหน ก็ต้องทำให้พอเหมาะพอควร แต่ทั้งหมดนี้ก็รวมอยู่ในคำว่าความดี เมื่อทำถูกทำเหมาะดังกล่าวนั้นจึงเป็นความดี ซึ่งเป็นข้อปลีกย่อยออกไป แต่เมื่อประมวลเข้ามาแล้วในคำเดียวว่าความดี ก็พึงทำให้เป็นความดีอยู่ทุกกาลสมัย ไม่เลือกว่าเวลาไหน แต่ว่าเวลาไหนจะทำความดีอย่างไหนนั้น ก็สุดแต่ความเหมาะสมดังที่กล่าว เพราะฉะนั้นจึงต้องเข้าใจในธรรมะที่สั่งสอน รู้จักจำแนกแจกแจงให้ถูกต้อง เหมือนอย่างว่าการใช้ยาแก้โรค เมื่อป่วยก็ต้องใช้ยาแก้โรค แต่ว่าจะใช้ยาอย่างไหน แก้โรคอย่างไหน ใช้ในเวลาไหน ก็เป็นรายละเอียดของแต่ละราย ซึ่งต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่รวมความเข้าแล้วก็คือว่า ใช้ยาแก้โรค ซึ่งก็จะต้องใช้กันอยู่ หรือเวลาเมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บเช่นเดียวกัน
ข้อปฏิบัติที่ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา
ในส่วนด้านคุณงามความดีที่ควรทำอยู่เสมอ มีความสมควรแก่การเลิกละความชั่วอยู่เสมอ และควรมีการชำระจิตใจของตนให้ไร้มลทินและผ่องใสอยู่ตลอดเวลา จึงจะเป็นข้อที่ปฏิบัติไม่จำกัดด้วยกาลเวลาดังที่กล่าวมาแล้ว โดยส่วนรวม คือว่าจะทำอะไรเวลาไหน ก็ให้ดีก็แล้วกัน อย่าให้ชั่ว ให้ดีก็แล้วกัน แต่ว่าจะดีอย่างไรนั้นก็จะต้องศึกษาให้รู้จัก และปฏิบัติให้ถูกต้อง และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะได้รับผลของการปฏิบัติทันทีที่ปฏิบัติ อันไม่ประกอบด้วยกาลเวลาเช่นเดียวกัน ในเรื่องการทำดีที่ควรทำไม่จำกัดด้วยกาลเวลาดังกล่าวมานั้น ก็ยังมีผู้ที่ไม่เข้าใจกันอยู่เป็นอันมาก เช่นบางคน เมื่อตั้งใจทำความดีที่เข้าใจว่าเป็นความดี เช่น ตั้งใจทำทาน ตั้งใจรักษาศีล ตั้งใจเจริญภาวนา แต่ว่าก็มาบ่นว่าไม่เห็นจะได้ดีสักทีหนึ่ง คือหมายความว่าไม่เห็นจะบรรลุผลที่ต้องการ เช่นว่าต้องการได้ทรัพย์ก็ไม่ได้ทรัพย์ ต้องการได้ยศได้ตำแหน่ง ก็ไม่ได้ยศได้ตำแหน่ง ที่นึกว่าตนควรจะได้ ก็ทำให้ท้อใจในการที่จะทำความดี มีเข้าใจกันอยู่ดั่งนี้เป็นอันมาก ซึ่งทำให้รู้สึกว่าการประพฤติธรรมนั้นไม่ให้ผลเป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ไม่ให้ผลเห็นทันตา หรืออาจจะไม่ให้ผลเลย ก็ทำให้เลิกประพฤติ
พุทธานุภาพ
ความรู้และความเข้าใจในพุทธานุภาพ พร้อมทั้งธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ไปในทางผิดก็มีอีกเป็นอันมาก เช่น เข้าใจว่าอาศัยพุทธานุภาพ ด้วยการที่อธิษฐานขอพรจากพระพุทธรูปที่เข้าใจว่าศักดิ์สิทธิ์ ขอให้เป็นผู้ชนะ ตั้งแต่ชนะในการที่ประชันแข่งขันจำเพาะตัวๆ ตลอดจนถึงชนะที่เป็นส่วนรวม เช่นว่าชนะสงคราม ครั้นไม่ชนะกลับแพ้ก็ทำให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าไม่มีประโยชน์ พระธรรมไม่มีประโยชน์ พระสงฆ์ไม่มีประโยชน์ ช่วยให้ชนะไม่ได้ จนถึงเสื่อมศรัทธาในพุทธศาสนา หรือว่าเลิกนับถือพุทธศาสนาไปก็มี ด้วยความเข้าใจผิด เพราะฉะนั้น จึงต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนว่าทรงมีพุทธานุภาพ ให้ผู้นับถือไปรบใครแล้วก็ชนะ หรือว่าไปแข่งขันอะไรกับใครแล้วก็ชนะ มีพุทธานุภาพที่จะทำให้ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย มีพุทธานุภาพที่จะทำให้พ้นจากผลของกรรมของตนที่จะพึงได้รับได้ ปัดเป่าให้พ้นจากผลร้ายอันจะเกิดจากกรรมที่ตนเองทำไว้ได้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้เองว่า
คนเราทุกคนมีกรรมเป็นของของตน ทำกรรมดีจักได้ดี ทำกรรมชั่วจักได้ชั่ว เพราะฉะนั้น ถ้าพระองค์ไปทรงช่วยได้ ว่าทำกรรมชั่วแล้วไม่ต้องได้ชั่ว คำที่พระองค์สอนไว้ก็กลายเป็นไม่จริง ไม่ใช่เป็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริง ไม่ใช่เป็นอมตะวาจา วาจาที่ไม่ตาย กฏของกรรมก็ต้องเป็นกฏของกรรม ต้องเป็นไปตามที่ทรงสอนเอาไว้ แต่ว่าพระพุทธเจ้านั้นได้ทรงช่วยทางจิตใจ เพื่อให้จิตใจได้ที่พึ่ง จิตใจบริสุทธิ์ ให้ประกอบคุณงามความดี ตั้งอยู่ในทาน ในศีล ในภาวนา เป็นต้น อันเป็นบุญ ซึ่งเป็นที่พึ่งของตน เพราะฉะนั้นแม้ผู้ที่กรรมมาถึง อันจะทำให้ต้องถึงแก่ความตาย เมื่อได้พบพระพุทธเจ้า ได้ถึงที่พึ่งทางใจจากพระพุทธเจ้า ได้ศรัทธาปสาทะในพระพุทธเจ้า ได้ดวงตาเห็นธรรมจากธรรมะที่ทรงสั่งสอน ก็แปลว่าได้ประสบบุญได้ที่พึ่งของจิตใจแล้ว เมื่อต้องตายไปก็มีคติดีเป็นที่ไป อันเป็นสุคติ พระองค์ได้โปรดดั่งนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปโปรดให้เขาพ้นจากผลของกรรมที่เขาจะต้องได้รับ
ดังนั้นพระพุทธองค์ทรงโปรดธิดาของช่างทอหูก ซึ่งนางจะต้องถึงแก่ความตายในวันนั้น ตามกรรมที่นางได้กระทำเอาไว้ พระองค์ได้เสด็จไปดักพบนาง เมื่อนางธิดาของช่างทอหูกนั้นกำลังจะไปสู่โรงหูกของบิดา นางได้พบได้เฝ้าพระพุทธเจ้า ได้สนทนาตอบปุจฉาของพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมะจากพระองค์ ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้รับศรัทธาและนับถือ ได้ที่พึ่งทางใจเป็นอย่างดี ก็ไปสู่โรงทอหูก บิดากำลังนั่งหลับอยู่กับหูก เมื่อธิดาของตัวไปถึง ก็ตกใจด้วยเสียงที่ธิดาเดินเข้าไป ก็เหวี่ยงกระสวยหูกออกไปกระทบธิดาของตนโดยแรง จนถึงแก่ความตายทันที ก็เป็นไปตามผลของกรรมที่นางได้กระทำเอาไว้ ถ้าหากว่าผู้ที่มีความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะต้องกล่าวว่าพระพุทธเจ้าช่วยไม่ได้ ไปพบพระพุทธเจ้าแล้วน่าจะไม่ตาย อาจจะเข้าใจผิดอย่างนั้นได้ แต่ผู้ที่เข้าใจพุทธศาสนาแล้วก็จะไม่เข้าใจอย่างนั้น จะต้องเห็นว่ากรรมที่ใครทำไว้ก็ต้องได้รับผลของตัวเอง ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ เรียกว่าเป็นคำปกาสิต ทำกรรมดีได้รับผลดี ทำกรรมชั่วได้รับผลชั่ว เป็นสัจจะวาจา เป็นอมตาวาจา เป็นคำปกาสิตที่ไม่มีเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น พระองค์ก็โปรดได้ในทางที่จะพึงโปรดได้ ด้วยการที่ให้ผู้ที่จะต้องประสบเคราะห์กรรมอย่างแรงนั้นได้พบพระองค์ และได้ที่พึ่งทางใจจากพระองค์ไปดั่งที่กล่าว ก็เป็นอันว่าเป็นผู้ที่ไปดีแน่นอน ไม่ไปสู่ทุคติคือคติที่ชั่ว พระองค์ทรงช่วยดั่งนี้
เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจพระพุทธให้ถูกต้องดั่งนี้แล้ว ก็จะเข้าใจถูกต้อง เช่นว่า ในการที่จะได้ผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นลาภก็ดีเป็นยศก็ดีเป็นต้นนั้น ต้องอาศัยประกอบเหตุที่เป็นปัจจุบัน แล้วก็ต้องประกอบกับเหตุแวดล้อม บุคคลที่แวดล้อมอีกเป็นอันมาก เป็นไปตามทางโลก ตามกระบวนการของโลก ที่มีผิดบ้างมีถูกบ้าง ดีบ้างชั่วบ้าง เพราะว่าโลกนั้นเป็นตัณหาธิปไตยกันอยู่ดังที่กล่าวมาแล้ว แม้ตัวเองก็เป็นตัณหาธิปไตยกันอยู่ตามที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อต้องการลาภอันใด เช่นว่าต้องการที่จะได้เงินทองหรือลาภยศ บามีอำนาจ ทรัพย์สินเงินทอง และไปทำทาน ทำศีล ทำภาวนา แล้วได้ดังสมใจปองนั้น เป็นไปไม่ได้ จะต้องทำงาน ทำมาหากิน ประกอบอาชีพ ศึกษาหาความรู้ จึงจะได้มา นั้นคือต้องลงมือทำด้วย ดั่งนี้เป็นต้น
ทิฏฐธรรมิกัตถะ ประโยชน์ปัจจุบัน
ในส่วนธรรมะของพระพุทธเจ้าที่จะใช้ในเรื่องเหล่านี้ ก็ทรงสอนเอาไว้แล้ว ว่าต้องการประโยชน์ปัจจุบันเหล่านี้ก็จะต้องมีอะไรบ้าง ในหมวดทิฏฐธรรมิกัตถะประโยชน์ปัจจุบัน มี อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่นเพียร อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา กัลยาณมิตตตา คบเพื่อนมิตรที่ดีงาม สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ เหล่านี้เป็นต้น ต้องปฏิบัติเหตุให้ถูกแก่ผลในทางโลก ก็ย่อมจะได้ผล จะไปทำทานรักษาศีลเจริญภาวนา เพ่งดูนาให้ข้าวงอกขึ้นมานั้น ไม่ได้ เป็นการปฏิบัติผิดทาง แล้วจะหาว่าทำดีไม่ได้ดี ทำดีไม่ได้ข้าว ไม่ได้ลาภ ทำดีไม่ได้ยศ ดั่งนี้ก็ไม่ได้
การปฏิบัติตรงในพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนานั้นตรัสสอนให้ละกิเลสละตัณหา ละโลภละโกรธละหลง เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติเพื่อที่จะละกิเลสตามที่ตรัสสั่งสอนไว้นั้น ซึ่งมีเป้าหมายคือนิพพานในที่สุด อันเป็นธรรมะที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์ ที่เป็นการปฏิบัติตรงในพุทธศาสนา ปฏิบัติเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น ปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น ทำทานเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น เพราะเป็นเครื่องขัดเกลา ชำระจิตใจ จากตัณหา จากโลภ จากโกรธ จากหลง หรือว่าจากราคะโทสะโมหะเป็นต้น
การกระทำเมื่อใดก็เป็นการชำระเมื่อนั้น เป็นผลเมื่อนั้น รวมความก็คือว่าทำดีเมื่อใดก็ได้เป็นผู้ดีเมื่อนั้น มีภาวะเป็นคนดีเมื่อนั้น ทำชั่วเมื่อใดก็มีภาวะเป็นคนชั่วเมื่อนั้น เป็นภาวะที่ปรากฏอยู่ที่จิตใจ ที่ตัวเองในภายใน ขึ้นทันทีที่กระทำดีหรือกระทำชั่ว ต้องหมั่นพิจารณาดูตัวเองให้เห็นสัจจะคือความจริงอันนี้ ให้รู้จักดีจักชั่วที่เป็นส่วนเหตุ ให้รู้จักดีจักชั่วที่เป็นส่วนผล อันมีขึ้นทันทีตามลำดับของการกระทำ ดั่งนี้ ตั้งแต่เบื้องต้นเรื่อยขึ้นไป จนถึงขั้นมรรคผลนิพพานก็เช่นเดียวกัน ย่อมให้บังเกิดเป็นมรรคผล เป็นนิพานไปตามลำดับที่ปฏิบัติถึงขั้นถึงวาระ ทุกกาลทุกสมัย ไม่กำหนดด้วยกาลเวลา เมื่อครั้งพุทธกาลเป็นอย่างใด เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลกแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ธรรมะจึงเป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา
นิยาม และแนวคิดเกี่ยวกับอกาลิโก
ธรรมคุณ 6 คุณของพระธรรมคุณมี 6 ประการ ดังที่นักปราชญ์ได้ร้อยกรองเป็นบทสวดสำหรับน้อมนำระลึกไว้ในใจ ดังนี้
1)      สวากขาโต ภควตา ธัมโม หมายถึง ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วท่ามกลาง อันได้แก่ สมาธิและงามในที่สุด อันได้แก่ ปัญญา พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์หรือหลักการครองชีวิตอันประเสริฐ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
2)      สันทิฏฐิโก หมายถึง ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง  ผู้ใดปฏิบัติ ผู้ใดบรรลุ ผู้นั้นย่อมเห็นประจักษ์ด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อตามคำบอกเล่าของผู้อื่น ผู้ใดไม่ปฏิบัติ ไม่บรรลุ ผู้อื่นจะบอกก็เห็นไม่ได้
3)      อกาลิโก หมายถึง ไม่ประกอบด้วยการ  ผู้ปฏิบัติไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา พร้อมเมื่อใดบรรลุได้ทันที บรรลุเมื่อใดเห็นผลได้ทันที นั่นคือ ให้ผลในลำดับแห่งบรรลุไม่เหมือนผลไม้อันให้ผลตามฤดูกาล
4)      เอหิปัสสิโก หมายถึง  ควรเรียกให้มาดู  พระธรรมเป็นคุณอัศจรรย์ดุจของประหลาดที่ควรเชิญชวนให้มาชมและพิสูจน์หรือท้าทายต่อการตรวจสอบ เพราะเป็นของจริงและดีจริง
5)      โอปนยิโก  หมายถึง  ควรน้อมเข้ามา  ผู้ปฏิบัติควรน้อมเข้ามาไว้ในใจของตนหรือน้อมใจเข้าไปให้ถึงด้วยการปฏิบัติให้เกิดขึ้นในใจ
6)      ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ  หมายถึง อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน  ผลอันเกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้น ทุกคนที่น้อมนำมาปฏิบัติ จะรู้ซึ้งถึงผลแห่งพระธรรมนั้นด้วยตนเอง ทำให้กันไม่ได้ เอาจากกันไม่ได้ และรู้ได้ประจักษ์ในใจของตนเอง
คุณของพระธรรมข้อที่ 1 มีความหมายกว้าง รวมทั้งปริยัติธรรม คือ คำสั่งสอนด้วย ส่วนคุณของพระธรรมข้อที่ 2 ถึงข้อที่ 6 มุ่งให้เป็นคุณของโลกุตตรธรรม
ดังนั้น เมื่อทราบความหมายของธรรมคุณ 6 ทั้งหมดแล้ว การสวดมนต์เพื่อสรรเสริญพระธรรมคุณในครั้งต่อๆ ไป คงจะทรงความหมายอย่างเปี่ยมล้น
อนึ่ง  การน้อมนำคุณของพระธรรม เพื่อเจริญธัมมานุสตินั้น มีอานิสงส์มาก ดังที่ ปัญญา ใช้บางยาง ได้บอกไว้ในหนังสือธรรมาธิบาย เล่ม 1 ว่า
§ ย่อมเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา
§ ตระหนักและอ่อนน้อมในพระธรรม
§ ย่อมได้ความไพบูลย์แห่งคุณ มีศรัทธา เป็นต้น
§ เป็นผู้มากด้วยปีติปราโมทย์
§ ทนต่อความกลัว ความตกใจ อดกลั้นต่อทุกข์
§ รู้สึกว่าได้อยู่กับพระธรรม
§ เป็นบาทฐานให้บรรลุธรรมอันยิ่ง
§ เมื่อประสบกับวัตถุที่จะพึงล่วงละเมิด หิริโอตตัปปะ ย่อมปรากฏแก่เธอ
§ เมื่อยังไม่บรรลุคุณอันยิ่ง เธอย่อมมีสุคติต่อไป
ดังนั้นสรุปได้ว่า พระธรรม หมายถึงธรรมะซึ่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบและนำออกเผยแผ่ หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับความจริงตามธรรมชาติของทุกข์และวิธีการดับทุกข์ ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นแต่เริ่มสืบทอดกันด้วยวิธีท่องจำแบบปากต่อปาก เรียกว่า "มุขปาฐะ" สมัยต่อมาจึงได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร คัมภีร์ที่บันทึกพระธรรมของพระพุทธเจ้านั้น เรียกว่า พระไตรปิฎก และยังมีคัมภีร์อื่นๆ ที่แต่งภายหลังเพื่อขยายความอีก ได้แก่ อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ตามลำดับ ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมพระพุทธองค์ แต่ทรงเป็นผู้ค้นพบแล้วนำมาประกาศ อาจพอกล่าวได้ว่าการเรียนรู้พระธรรม ก็คือการเรียนรู้ธรรมดาโลก และเรียนรู้สิ่งที่เป็นปกติที่มีบ่อเกิดที่มาว่ามาอย่างไร เป็นไปได้อย่างไร
ความหมาย พระธรรม ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า "ธา" ที่หมายถึง ยก, พยุง, สนับสนุน, เกื้อหนุนธรรมคุณ ใน วัตถูปมสูตร และ มหานามสูตร พระพุทธเจ้าตรัสถึงคุณลักษณะของพระธรรม ธรรมคุณ  คือ  คุณของพระธรรม , ลักษณะของพระธรรม  มี 6 อย่าง คือ
1)      สฺวากฺขาโต (Svakkhato) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
2)      สนฺทิฏฺฐิโก (Sanditthiko) ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง
3)      อกาลิโก (Akāliko) ไม่ประกอบด้วยกาล
4)      เอหิปสฺสิโก (Ehipassiko) ควรเรียกให้มาดู
5)      โอปนยิโก (Opānayiko) ควรน้อมเข้ามา
6)      ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญูหิ (Paccattam veditabbo viññūhi) วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
การปฏิบัติพระธรรมจะนำมาซึ่ง ความสงบ และ ความสุข แก่ตนผู้ปฏิบัติ ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของตนเองในการปฏิบัติพระธรรม การศึกษาพระธรรมในปัจจุบันปัจจุบัน การศึกษาพุทธธรรมหรือพระพุทธศาสนาในประเทศพุทธเถรวาทและมหายาน นิยมจัดการเรียนการสอนแบบมหาวิทยาลัย โดยอาจจัดควบคู่ไปกับการเรียนการสอนตามแบบที่สืบทอดกันมาแต่โบราณในประเทศนั้น ๆ เช่น ในประเทศไทย นอกจากจะมีมหาวิทยาลัยสงฆ์แล้ว ยังคงมีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และบาลีอยู่ เป็นต้น
การศึกษาพุทธศาสนาในระดับนานาชาติในปัจจุบัน เป็นที่สนใจของตะวันตกอย่างกว้างขวาง หลังจากมีการจัดตั้งสมาคมบาลีปกรณ์ และองค์กรพุทธต่างๆ ขึ้นมามากมายหลายแห่ง ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฯลฯ เพื่อค้นคว้าหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในคัมภีร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาทิเบต และ ภาษาจีน ทำให้การศึกษาพุทธธรรมขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัยทั้งยุโรปและอเมริกาหลายแห่ง มีการดำเนินการเปิดสอนพุทธธรรมทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาเอก ปริญญาโท ปริญญาตรี
พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ (2560) เมื่อพุทธศาสนิกชนสวดบทสรรเสริญ พระธรรมคุณ จะมีบทสวดบทหนึ่งว่า อกาลิโก พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ไว้ดีแล้วนั้น นอกจากจะเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ ประจักษ์ได้ด้วยตนเอง ยังเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่ จำกัดกาล หรือ ทำความเข้าใจง่ายๆว่า คำว่า อกาลิโก เป็นลักษณะของพระธรรมอย่างหนึ่งคือ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผล ได้ไม่จำกัดกาล
อากาลิโก ตามความหมายของพระอภิธรรม อกาลิโก หมายถึง ธรรมที่ให้ผลไม่ประกอบด้วยกาล หรือไม่ต้องรอกาลเวลาที่ได้รับผลแห่งธรรม ได้แก่ มรรคจิต 4 และผลจิต 4 เนื่องจาก มรรคจิตซึ่งเป็นกุศลชาติ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว หรือเมื่อบรรลุมรรคแล้ว อริยผลของกุศลนี้ได้แก่ ผลจิต อันเป็นวิบากชาตินั้นไม่ต้องรอเวลา ไม่มีระหว่างคั่น จะให้ผลในทันทีทันใด จึงเรียกว่า อกาลิกธรรม ซึ่งเมื่อมรรคจิตเกิด ผลจิตจะเกิดติดต่อกันเป็น อนันตรปัจจัย
                ดังนั้นสรุป อาลิโก หมายถึง  พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติโดยไม่จำกัดกาลเวลา ไม่ขึ้นกับกาลเวลา ให้ผลทุกเมื่อทุกโอกาส ให้ผลตามลำดับแห่งการปฏิบัติ คือได้บรรลุเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น ได้บรรลุถึงระดับใหนก็ให้ผลในระดับเมื่อนั้น ทั้งความจริงความแท้แห่งพระธรรมนี้ไม่มีกำหนดอายุกาล จริงแท้อยู่ตลอดกาล จริงแท้อย่างนั้นทุกยุคทุกสมัย ด้วยเหตุนี้ พระธรรมจึงได้ชื่อว่า อกาลิโก (ไม่ขึ้นกับกาล)
แหล่งที่มา
วารสารบริหารวิชาการ พระพุทธศาสนาเขตลุ่มแม่น้ำโขง, ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑ (พฤษภาคม สิงหาคม ๒๕๕๙).
พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ. (2560). อกาลิโก ไม่จำกัดเวลา.  สืบค้นเมื่อ  1 สิงหาคม 2560 . http://live.siammedia.org/index.php/article/dharma/1774
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (2529). ธรรมอบรมจิต- พระธรรมคุณ 4 อกาลิโก. สืบค้นเมื่อ  1 สิงหาคม 2560 .  http://www.thai60.net/s.yarn/index_somdej.html
ชมรมกัลยาณธรรม. (2560). ธรรมคุณ 6. สืบค้นเมื่อ  1 สิงหาคม 2560 . http://www.kanlayanatam.com/sara/sara17.htm

อณิศร โพธิทองคำ (2560). พระธรรมคุณ 5 อกาลิโก. สืบค้นเมื่อ  1 สิงหาคม 2560. http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-156.htm

วันพุธที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560

่บทความวัฒนธรรม

วัฒนธรรม
บทนำ
วัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตของคนในสังคม ซึ่งได้สืบทอดต่อมายังชนรุ่นหลัง วัฒนธรรมจึงเปรียบเสมือนเครื่องห่อหุ้มสังคม ทำให้สังคมดำรงอยู่ได้ เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีสังคม หรือที่ใดมีวัฒนธรรมที่นั่นก็มีสังคม ที่ใดมีสังคมที่นั่นก็มี วัฒนธรรม เท่ากับเป็นของสิ่งเดียวกันที่มีสองด้านแยกกันในทางปฏิบัติไม่ได้ หน้าที่ของวัฒนธรรมที่พึงมีต่อสังคม เป็นตัวกำหนดรูปแบบของสถาบัน สามารถกำหนดบทบาท ความสัมพันธ์ของมนุษย์ ทำหน้าที่ควบคุมสังคม แสดงถึงเครื่องหมาย สัญลักษณ์ ที่แสดงว่าสังคมหนึ่งแตกต่างไปจากอีกสังคมหนึ่ง ทำให้เกิดความเป็นอันเหนึ่งอันเดียวกันในสังคม เกิดเป็นปึกแผ่นความจงรักภักดี และอุทิศตนให้แก่สังคม ทำให้สังคมอยู่รอด วัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและหล่อหลอมบุคลิกภาพของสังคมให้กับสมาชิก ทำให้สมาชิกแต่ละคนและแต่ละสังคมได้ตระหนักถึงความหมายและวัตถุประสงค์ ของการมีชีวิตของคน เช่น สังคมไทยพุทธเชื่อว่าเกิดมาแล้วต้องชดใช้กรรม ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับชีวิตของคน เขาก็เชื่อว่าเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม สร้างหรือจัดรูปแบบความประพฤติและการปฏิบัติร่วมกัน โดยบุคคลไม่จำเป็นต้องคิดหาวิธีประพฤติปฏิบัติโดยไม่จำเป็น รูปแบบความประพฤติที่สังคมเคยกระทำอย่างไร หน้าที่ของสมาชิกในสังคมก็คือ การปฏิบัติตาม
วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมมนุษย์ อีกนัยหนึ่งคือ มนุษย์จะอยู่โดยปราศจากวัฒนธรรมไม่ได้หรือ วัฒนธรรมกับมนุษย์จะต้องอยู่ควบคู่กันไป เสมือนเงากับตัวทิ้งกันไม่ได้”  วัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด และไม่ใช่สิ่งที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นนิสัยและความสามารถต่าง ๆ ของมนุษย์ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเรียนรู้ หรือขบวนการสังคม วัฒนธรรมของแต่ละสังคม มีความแตกต่างกันและคามแตกต่างนี้ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบพิจารณาว่าวัฒนธรรมใดดีกว่ากัน เพราะวัฒนธรรมแต่ละวัฒนธรรมย่อมมีความเหมาะสมถูกต้องตามสภาพแวดล้อมของแต่ละสังคม แนวความคิดที่ว่า วัฒนธรรมทุกวัฒนธรรมมีส่วนดีเป็นของตนเอง ซึ่งเรียกว่า วัฒนธรรมสัมพันธ์แนวความคิดนี้มุ่งที่จะลบล้างความคิดเห็นที่ว่า วัฒนธรรมของตนดีกว่าวัฒนธรรมของคนอื่น (Ethnocentrism) วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ โดยทั่วไปการเปลี่ยนแปลงมักจะเป็นไปได้ 2 วิธีคือ 1 การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในวัฒนธรรมเอง เช่น การประดิษฐ์คิดค้น และ 2 การเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายนอก เช่น การติดต่อกับวัฒนธรรมอื่น เป็นการเลียนแบบวัฒนธรรมอื่น ๆ มาใช้ วัฒนธรรมเป็นผลรวมของแบบแผนและแนวการดำเนินชีวิตของปลาย ๆ อย่างในสังคมเข้าด้วยกัน ถ้าสมาชิกในสังคมส่วนใหญ่ยึดถือเป็นแบบอย่างเดียวกันเรียกวัฒนธรรมนั้นว่า วัฒนธรรมใหญ่หรือ วัฒนธรรมรวมและภายหลังวัฒนธรรมใหญ่ยังแบ่งเป็น วัฒนธรรมย่อยหรือ วัฒนธรรมรองด้วย
การเปลี่ยนแปลงขอวัฒนธรรม ขึ้นกับสังคมนั้นหรือกลุ่มคนที่ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ ในสถานที่และเวลาที่กำหนดรู้ได้ วัฒนธรรมคือ แบบอย่างการดำเนินชีวิตของคนที่อยู่กันเป็นสังคมนั้น ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ วิธีการ และความคิด ความเชื่อ ที่สร้างและใช้ร่วมกัน ลักษณะของสังคมและวัฒนธรรมจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวกับคนและอุปกรณ์ วิธีการที่ใช้ดำรงชีวิตในหมู่คณะนั้น สังคมและวัฒนธรรมไทยมีขอบเขตและลักษณะที่เปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเทศะมีหลักเกณฑ์และวิธีการที่จะกำหนดขอบเขตและลักษณะของสังคมและวัฒนธรรมอยู่หลายอย่าง การบรรยายเรื่องราวของสังคมและวัฒนธรรมไทยให้ครบถ้วน สมบูรณ์ทุกส่วนและทุกยุคสมัยจึงไม่ใช่เรื่องที่ง่าย สังคมและวัฒนธรรมไทยมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปได้ในยุคสมัยที่ต่างกัน เพราะปัจจัยสำคัญได้แก่ จำนวน ประเภท และความสัมพันธ์ของบุคคล สภาพแวดล้อมของสังคม ความรู้ความสามารถของคนไทย และความต้องการพอใจของคนไทยในการมีชีวิตร่วมกัน


ที่มาของวัฒนธรรม
เป็นที่ทราบกันแล้วว่า วัฒนธรรมมีในสังคมมนุษย์เท่านั้น สัตว์ไม่มีวัฒนธรรมเหมือนมนุษย์ หรือสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาไม่ได้ แต่มีมนุษย์มีวัฒนธรรม หรือสร้างวัฒนธรรมได้นั้น สาเหตุมาจากเปรียบเทียบกับสัตว์ ในการมองสิ่งต่าง ๆ มีความสามารถใช้มือและนิ้วอย่างอิสระ มีอายุยืนยาว มีมันสมองที่สามารถคิดค้นเรียนรู้ได้ดี และสามารถ่ายทอดโดยใช้ภาษาพูดและภาษาเขียน มีความสามารถในการคิดพิจารณาไตร่ตรอง มีความจำ มีการทดลองค้นคว้า ประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ รวมทั้งความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสังคมหรือการอยู่ร่วมกันได้ดี สิ่งเหล่านี้เองจึงทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์
แนวคิดเรื่องที่มาของวัฒนธรรมนี้ ได้มีผู้รู้ให้แนวคิดแตกแยกออกไปหลายทางด้วยกัน แต่มีแนวความคิดที่สำคัญอยู่ 2 ทางด้วยกัน คือ
1.  ทฤษฎี Parallelism ทฤษฎีนี้มีแนวคิดว่า วัฒนธรรมนั้นเกิดขึ้นในที่ต่าง ๆ พร้อมกัน เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์คล้ายันมาก ฉะนั้นจึงมีความคิดที่คล้ายกัน มนุษย์ที่อยู่ในสถานที่ต่างๆ ย่อมสามารถก่อสร้างวัฒนธรรมของตนขึ้นมาได้ จะเห็นได้จากการประดิษฐ์สิ่งของอย่างเดียวกันในสถานที่ต่างกัน จะแตกต่างกันเฉพาะในรูปลักษณะของการประดิษฐ์สิ่งนั้น ๆ เช่น ชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำก็มักจะสร้างเรือเป็นพาหนะในชีวิตประจำวันของตน รูปร่างของเรืออาจจะแตกต่างกัน แต่ประโยชน์ใช้สอยเหมือนกัน 
2.  ทฤษฎี Diffusionism ทฤษฎีนี้มีแนวความคิดว่าวัฒนธรรมเกิดจากศูนย์กลางที่ใดหนึ่งเพียงแห่งเดียว และแพร่กระจายไปในชุมชนต่าง ๆ อาจเป็นกระบวนการค่อยเป็นค่อยไปหรือแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง โดยจากการประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ หรือเกิดสถาบันใหม่ โดยที่สถานที่ที่อยู่ใกล้เคียงหรืออยู่ห่างไกลได้นำวัฒนธรรมนั้นไปดัดแปลงใช้จนกระทั่ววัฒนธรรมนั้นแพร่หลายครอบคลุมไปทั่วโลก กลไกลของการแพร่กระจายวัฒนธรรมนี้ได้แก่ การอพยพล่าอาณานิคม การทำสงคราม การเผแพร่ศาสนา การติดต่อการค้าขาย เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้วเนื้อหาวัฒนธรรมมีแนวโน้มที่จะแพร่หลาย แต่ก็มิได้ราบรื่นโดยตลอด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น เส้นทางคมนาคมไม่สะดวก ชุมชนอยู่ห่างไกลเกินไป ประชาชนเกิดการต่อต้านวัฒนธรรมใหม่ เพราะยังมิเห็นถึงประโยชน์ หรือ อาจจะต่อต้านเพราะเห็นว่าวัฒนธรรมที่มีอยู่มีคุณค่ามีประโยชน์แล้ว หรือรู้สึกว่าขัดกับลักษณะของวัฒนธรรมที่หลั่งไหลเข้ามา เช่น ในกรณีสังคมไทยซึ่งได้รับอิทธิพลจากสังคมตะวันตกในเรื่องการดื่มน้ำชา กาแฟ แต่ยังไม่แพร่หลายในหมู่คนสูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบชนบทยังนิยมกินหมากหรืออมเมี่ยงอยู่ เพราะแต่ละชุมชนเคยชินกับวัฒนธรรมของตนและเห็นว่ามีคุณค่าเหมือนกัน และใช้แทนกันได้อยู่แล้ว

ความสำคัญของวัฒนธรรม
     1) วัฒนธรรมเป็นเครื่องสร้างระเบียบแก่สังคมมนุษย์ วัฒนธรรมไทยเป็นเครื่องกำหนดพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมไทย ให้มีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนรวมถึงผลของการแสดงพฤติกรรมตลอดจนถึงการสร้างแบบแผนของความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของสมาชิกให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน
     2) วัฒนธรรมทำให้เกิดความสามัคคีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สังคมที่มีวัฒนธรรมเดียวกันย่อมจะมีความรู้สึกผูกพันเดียวกัน เกิดความเป็นปึกแผ่น จงรักภักดีและอุทิศตนให้กับสังคมทำให้สังคมอยู่รอด
     3) วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดรูปแบบของสถาบัน เช่น รูปแบบของครอบครัวจะเห็นได้ว่าลักษณะของครอบครัวแต่ละสังคมต่างกันไป ทั้งนี้เนื่องจากวัฒนธรรมในสังคมเป็นตัวกำหนดรูปแบบ เช่น วัฒนธรรมไทยกำหนดเป็นแบบสามีภรรยาเดียว ในอีกสังคมหนึ่งกำหนดว่าชายอาจมีภรรยาได้หลายคน หรือหญิงอาจมีสามีได้หลายคน ความสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่งงานเป็นสิ่งที่ดีหรือเป็นเรื่องขัดต่อศีลธรรม
     4) วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหา และสนองความต้องการของมนุษย์ มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตภายใต้สิ่งแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นมนุษย์ต้องแสวงหาความรู้จากประสบการณ์ที่ตนได้รับการประดิษฐ์คิดค้นวิธีการใช้ทรัพยากรนั้นให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตและถ่ายทอดจากสมาชิกรุ่นหนึ่งไปสู่สมาชิกรุ่นต่อไปได้โดยวัฒนธรรมของสังคม
     5) วัฒนธรรมช่วยให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า หากสังคมใดมีวัฒนธรรมที่ดีงามเหมาะสม เช่น ความมีระเบียบวินัย ขยัน ประหยัด อดทน การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว เป็นต้น สังคมนั้นย่อมจะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว

     6) วัฒนธรรมเป็นเครื่องแสดงเอกลักษณ์ของชาติ คำว่า เอกลักษณ์ หมายถึง ลักษณะพิเศษหรือลักษณะเด่นของบุคคลหรือสังคม ที่แสดงว่าสังคมหนึ่งแตกต่างไปจากอีกสังคมหนึ่ง เช่น วัฒนธรรมการพบปะกันในสังคมไทย จะมีการยกมือไหว้กันแต่ในสังคมญี่ปุ่นใช้การคำนับกัน เป็นต้น
ความหมายของวัฒนธรรม
วัฒนธรรมมาจากภาษาอังกฤษคำว่า “Culture”คำนี้มีรากศัพท์มาจาก ภาษาละตินว่า “Cultura” มีความหมายว่า การเพาะปลูกหรือการปลูกฝัง มนุษย์เป็นผู้ปลูกฝังอบรมบ่มนิสัยให้เกิดความเจริญงอกงาม 
ในด้านภาษาศาสตร์ วัฒนธรรมเป็นคำที่ได้มาจากการรวมคำ 2 คำเข้าด้วยกัน ได้แก่
-        วัฒนะ หรือ วัฒน หมายถึง ความเจริญงอกงาม รุ่งเรือง
-        ธรรมะ หรือ ธรรม หมายถึง กฎ ระเบียบ หรือข้อปฏิบัติ
ฉะนั้น เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมตามความหมายนี้จึงหมายถึง ความเป็นระเบียบ การมีวินัย เช่น เมื่อกล่าวถึงบุคคลหนึ่งว่า เป็นคนมีวัฒนธรรม ก็มักจะหมายความว่า เป็นที่มีระเบียบวินัย เป็นต้น
ในด้านสังคมศาสตร์ วัฒนธรรมมีความหมายกว้างขวางมาก กล่าวคือ วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิต (WAY OF LIFE) ของมนุษย์ในสังคม และแบบแผนในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุก ๆ อย่างรวมทั้งบรรดาผลงานทั้งมวลที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้น ตลอดจนความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และความรู้ต่าง ๆ เป็นต้น
นิติศาสตร์ หมายถึง ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบ ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีงามของประชาชน
จากความหมายของวัฒนธรรมทั้งในด้านทั่ว ๆ ไป ด้านภาษาศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ ด้านนิติศาสตร์ และนักวิชาการบางท่านได้กล่าวไว้ อาจหลอมรวมเข้าด้วยกันและสรุปได้คือ วัฒนธรรมมีความหมายครอบคลุมถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตมนุษย์ในสังคมของกลุ่มดกลุ่มหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง ซึ่งมนุษย์ได้สร้างสงระเบียบ กฎเกณฑ์วิธีในการปฏิบัติ รวมทั้งการจัดระเบียบ ตลอดจนระบบความ ความเชื่อ ค่านิยม ความรู้ และเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยได้วิวัฒนาการสืบทอดกันมาอย่างมีแบบแผน

ประเภทของวัฒนธรรม
โดยทั่วไปแล้วมักจะแบ่งวัฒนธรรมออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1.  วัฒนธรรมที่เป็นวัตถุ (Material Culture) ซึ่งได้แก่สิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มนุษย์คิดค้นผลิตขึ้นมา เช่น สิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านเรือน อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นต้น 
2.  วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ (Non – material Culture) หมายถึง อุดมการณ์ ค่านิยม แนวคิด ภาษา ความเชื่อทางศาสนา ขนมธรรมเนียมประเพณี ลัทธิการเมือง กฎหมาย วิธีการกระทำ และแบบแผนในการดำเนินชีวิต ซึ่งมีลักษณะเป็นนามธรรม (Abstract) ที่มองเห็นไม่ได้

องค์ประกอบของวัฒนธรรม
องค์ประกอบของวัฒนธรรมโดยทั่วไป มี 4 ประการ คือ
1.  องค์มติ (Concept) หมายถึง ความเชื่อ ความคิด ความเข้าใจ และอุดมการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนทัศนคติ การยอมรับว่าสิ่งใดถูกหรือผิด สมควรหรือไม่ ซึ่งแล้วแต่ว่ากลุ่มใดจะใช้อะไรเป็นมาตรฐาน (Normal) ในการาตัดสินใจหรือเป็นเครื่องวัด เช่น ความเชื่อในเรื่องการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
2.  องค์พิธีการ (Usage) หมายถึง ขนมธรรมเนียมประเพณี ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และแสดงออกมาในรูปพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีแต่งงาน พิธีขึ้นบ้านใหม่ พิธีศพ มักจะได้รับอิทธิพลจากศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตลอดจนพิธีการแต่งกาย และการับประทานอาหาร เช่น การแต่งกายเครื่องแบบของทางราชการ หรือการแต่งกายเครื่องแบบเต็มยศในงานรัฐพิธีต่าง ๆ เป็นต้น
3.  องค์การ (Association or Organization) หมายถึง กลุ่มที่มีการจัดระเบียบหรือมีโครงสร้างอย่างเป็นทางการมีกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ วีวัตถุประสงค์ และวิธีดำเนินงานไว้เป็นที่แน่นอน เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญที่สุดในสังคม ซับซ้อน (Complex Society) เช่น องค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์การที่ใหญ่ที่สุด สมาคมอาเซียน สหพันธ์กรรมกร หน่วยราชการ โรงเรียน วัด จนถึงครอบครัว ซึ่งเป็นองค์การที่มีขนาดเล็กที่สุดและใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด
4.  องค์วัตถุ (Instrumental and Symbolic Objects) เป็นวัฒนธรรมทางด้านวัตถุ มีรูปร่างที่สามารถสัมผัสจับต้องได้ เช่น บ้าน โรงเรียน ถนน เครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ อาวุธ ตลอดจนผลผลิตทางด้านศิลปกรรมของมนุษย์


ที่มา 
บ้านจอมยุทธ https://www.baanjomyut.com/index.html
ACD http://inservice.ascd.org/keys-to-creating-the-ultimate-school-culture/?utm_source=facebook&utm_campaign=Social-Organic&utm_medium=social
ความสำคัญของวัฒนธรรม : https://9a20237.wordpress.com/category/วัฒธรรมไทย/ความสำคัญของวัฒนธรรมไท/

วันอังคารที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2560

Key Mind Map

Mind Map
เรื่องของความจำ การเรียนรู้ และสมองนั้นเป็นอีกเรื่องที่พ่อแม่ยุคใหม่ให้ความสนใจกันมาก และการเรียนในปัจจุบันเองก็พยายามไม่ให้เด็กต้องท่องจำบทเรียนแต่ต้องการให้เข้าใจเนื้อหาหรือสามารถนำเนื้อหาไปประยุกต์เพื่อใช้งานมากกว่า วันนี้ frank อยากมาแชร์ขั้นตอนง่ายๆ ที่เอามาใช้สร้าง Mind Map ที่ช่วยเรื่องการจำได้อย่างน่าสนใจ เอาไปใช้ได้ทั้งเด็กๆ และผู้ใหญ่ด้วยครับมาดูว่า Mind Map ที่ถูกต้องนั้นเป็นยังไง ถ้าเมื่อไหร่ขับรถเที่ยวกับครอบครัวแล้วอยากหาอะไรทำก็ลองเล่นทำ Mind Map กันดูนะครับ

หลักของการทำ Mind Map
ที่มาของการทำ Mind Map นั้นเป็นวิธีสร้างแผนผังทางความคิดของเราในสมองที่เอามาใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตเลยล่ะครับ Mind Map นั้นจะมีการใช้ข้อความที่เป็นคีย์เวิร์ด มีการใช้สีสันที่หลากหลายเพื่อสร้างจินตนาการ อาจจะใช้การวาดรูปประกอบที่เราเห็นจากข้างทางระหว่างที่เราขับรถยนต์เพื่อเพิ่มความจำด้วยครับก็ได้ครับ

ขั้นตอนการทำ Mind Map
ก่อนจะทำก็เตรียมอุปกรณ์ก่อนเลยครับ ก็จะมีกระดาษ A4 ว่างๆ, ปากกาหลากสีหรือดินสอสีได้หมดครับ และที่สำคัญที่สุดจินตนาการอันแสนบรรเจิดครับ เพราะจากการวิจัยที่เราทราบๆ กันมาว่าการวาดภาพประกอบด้วยสีสันต่างๆ จะทำให้เราไม่รู้สึกเบื่อและทำให้เราจำรูปหรือภาพประกอบได้ง่ายกว่าการจดบันทึกเพียงอย่างเดียว เมื่อพร้อมแล้วมาลงมือกันเลยครับ หาที่ว่างในรถยนต์ของคุณเอาแบบที่วาดหรือเขียนอะไรได้ด้วยนะครับแล้ว

1.วาดจุดกึ่งกลางของกระดาษ
ทำไมไม่ไปเริ่มตรงขอบๆ หรือริมกระดาษล่ะ มันมีเหตุผลครับ เพราะพื้นที่ว่างตรงกลางแผ่นกระดาษนั้นทำให้สมองเรารู้สึกถึงความมีอิสระพร้อมที่จะสร้างสรรเพิ่มเติมได้อย่างเต็มที่ ถ้าวาดๆ ไปแล้วรถยนต์เกิดสะเทือนขั้นมาก็ให้มองว่ามันเป็นศิลปะละกันครับ
2.ใช้รูปภาพหรือจะวาดรูปประกอบไอเดียที่เราเพิ่งจะเขียนลงไปตรงกลางเมื่อกี้
เพราะรูปภาพนั้นสื่อความหมายได้มากมาย ทำให้เราใช้จินตนาการได้อย่างเต็มที่และเมื่อภาพกึ่งกลางมันดึงดูดใจเราก็จะมีโฟกัสที่แน่นอนและทำให้รอยหยักในสมองเราเพิ่มด้วยนะครับ
3.เล่นสีเยอะๆ
เพราะสีสันที่สดใส จะทำให้สมองเราตื่นตัว รู้สึกตื่นเต้น ดูมีชีวิตชีวาน่าอ่าน โดยเฉพาะสีเหลืองคือสีที่สมองเราจำแม่นสุดที่สุด
4.วาดกิ่งออกมาจากภาพตรงกลางต้องให้เส้นเชื่อมต่อกัน
เพื่อให้สมองเชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากัน เอาข้อมูลต่างๆ มาผสมกันเพื่อให้เราจำง่ายขึ้น
5.วาดเส้นโค้งเข้าไว้
สมองเราอ่อนไหวนะครับ ไม่ชอบอะไรที่ทื่อๆ ตรงๆ หรอกครับ และที่สำคัญคือ มันสวยดีครับ
6.เขียนคีย์เวิร์ดบนเส้นกิ่ง
อย่าไปเขียนใต้กิ่ง หรือเว้นว่างๆ ไว้เพราะมันจะทำให้เราคิดแบบไม่ต่อเนื่อง พยามหาคำโดนๆ สั้นๆ เพื่อให้เราจำง่ายดีกว่าครับ